'หมอธีระ' แนะอย่าประมาทหลงเชื่อว่า 'โอมิครอน' เป็นหวัดธรรมดาไม่ตาย

14 ธ.ค. 2564 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เปิดเผยว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 426,708 คน ตายเพิ่ม 4,598 คน รวมแล้วติดไปรวม 270,966,405 คน เสียชีวิตรวม 5,327,271 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา สหราชอาณาจักร รัสเซีย เยอรมัน และตุรกี

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 92.95 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 93.51

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นมากถึงร้อยละ 58.79 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 64.81

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก

…สำหรับสถานการณ์ไทยเรา

เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 3,398 คน สูงเป็นอันดับ 28 ของโลก

หากรวม ATK อีก 483 คน ก็ขยับเป็นอันดับ 24 ของโลก

ยอดรวม ATK จะเป็นอันดับ 6 ของเอเชีย

…อัพเดต Omicron

เมื่อวาน ที่อังกฤษมีรายงานออกมาแล้วว่า เคสติดเชื้อ Omicron ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล มีเสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย โดยคนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 10 ราย ส่วนใหญ่มีประวัติได้รับวัคซีน 2 โดสไปแล้วด้วย

เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนเราไม่ให้หลงไปกับมายาคติที่ว่า Omicron เป็นหวัดธรรมดา ไม่ตาย

ปรากฏการณ์ที่เราเห็นในหลายประเทศว่ามีคนติดเชื้อมากมาย แต่อาการน้อย และไม่ตายในช่วงที่ผ่านมานั้น เกิดจากหลายเหตุผลประกอบกัน ได้แก่ การที่ประชากรจำนวนมากได้รับวัคซีนไปแล้ว ทำให้ลดโอกาสป่วยรุนแรง และลดโอกาสเสียชีวิตได้ ดังที่เราทราบกันดี

นอกจากนี้การติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดในคนอายุน้อย ซึ่งโดยความรู้ที่เรามีมา มักเป็นวัยที่แข็งแรง หรือโอกาสติดเชื้อแล้วอาการรุนแรงน้อยเป็นทุนเดิมอยู่เช่นกัน

ในขณะที่ตัวไวรัสสายพันธุ์ Omicron นั้นจะทำให้ป่วยรุนแรงและเสียชีวิตน้อยลงจริงหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องเก็บรวบรวมข้อมูลทั่วโลกและติดตามกันต่ออีกระยะหนึ่ง เพื่อให้สามารถประเมินได้อย่างมั่นใจขึ้น

ด้วยข้อมูลความรู้ที่มีในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เรารู้ว่า Omicron มันแพร่เร็วขึ้น และดื้อต่อภูมิคุ้มกันทั้งที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน และที่มาจากวัคซีน โดยดื้อกว่าเดิม 20-40 เท่า

นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จะดื้อต่อการรักษาด้วย monoclonal antibodies หลายชนิดด้วย ส่วนการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต แม้จะมีแนวโน้มน้อยกว่าเดลต้า แต่ข้อมูลยังมีจำกัดและต้องติดตามต่อไป

สำคัญไปกว่านั้นคือ ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับภาวะอาการคงค้างหลังจากการติดเชื้อ Omicron ที่เรารู้จักกันในชื่อ Long COVID ว่าจะมีมากน้อยเพียงใด

อาการคงค้างมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการมากที่กระทบอวัยวะหรือระบบสำคัญในร่างกาย เช่น สมอง หัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น

สายพันธุ์ต่างๆ ก่อนหน้านี้ Long COVID พบได้ ทั้งในคนที่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ มีอาการน้อย หรือมีอาการรุนแรง โดยต่างประเทศเคยมีการรายงานว่าสามารถพบได้ราว 43% (ช่วงความเชื่อมั่น 35%-51%) ของคนที่ติดเชื้อทั้งหมด แต่สำหรับ Omicron ยังไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ เพราะเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งเจอกันแค่เดือนกว่าๆ เท่านั้น ดังนั้นจึงต้องระวังเรื่องนี้ด้วย

ข้อมูลจาก Prof.Alastair Grant ชี้ให้เห็นว่าตอนนี้การระบาดของ Omicron ใน UK นั้นมีการระบาดมากในเด็กและเยาวชนวัย Teenage และคนวัยทำงาน ซึ่งก็สอดคล้องกับอีกหลายประเทศ ยกเว้นในเดนมาร์กที่พบในคนสูงอายุมากขึ้น

ประเทศไทยจึงต้องระวังให้ดี เพราะเรามีโอกาสเกิดการระบาดปะทุขึ้นมาสูง เพราะปัจจัยแวดล้อมทางนโยบายและสังคมในปัจจุบัน มีความเสี่ยงมาก ทั้งเรื่องจำนวนคน จำนวนการพบปะกัน ระยะเวลาที่คลุกคลี ความใกล้ชิด และเป็นฤดูท่องเที่ยวและอากาศเย็น ครบองค์ประกอบในการระบาด

วัยเด็กและเยาวชนนั้นมีทั้งช่วงวัยที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และที่ยังได้วัคซีนไม่ครอบคลุม จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ในขณะที่วัยทำงาน คงชัดเจนว่ามาจากการทำงาน พบปะติดต่อกัน กินข้าวร่วมกัน ไปเที่ยวปาร์ตี้สังสรรค์กัน และไม่ได้ป้องกันตัว

จุดอ่อนเชิงระบบของไทยนั้นเป็นดังที่เคยนำเสนอให้เห็นแล้วว่าคือ ระบบการตรวจคัดกรองโรคมาตรฐาน RT-PCR ในเชิงศักยภาพจำนวนการตรวจต่อวัน การเข้าถึงบริการ และกำแพงเรื่องค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้หากมีการระบาดปะทุขึ้นมาเหมือนระลอกสองและสาม เราทุกคนได้เห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาแล้วว่าเป็นเช่นไร ดังนั้นจึงควรเสริมสร้างศักยภาพของระบบตรวจคัดกรองโรคให้เข้มแข็งขึ้น และเริ่มดำเนินการตะลุยตรวจมากขึ้น เพื่อดักหน้าโรค ด้วยเหตุผลเรื่องปัจจัยเสี่ยงปัจจุบันที่สูงขึ้นมาก

สุดท้ายแล้ว การใส่หน้ากาก และเว้นระยะห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตร เป็นสิ่งที่ต้องทำในระยะยาวถัดจากนี้ ควบคู่ไปกับการปรับตัว ปรับงาน ปรับสิ่งแวดล้อม เพื่อประคับประคองให้ทุกอย่างพอจะก้าวเดินไปได้ในยามที่ยังไม่เห็นจุดสิ้นสุดของสงครามโควิด-19


ควบคุม มิใช่ติดตาม
สุขภาพ มิอาจต้านทาน
มัวเมา โง่เขลา มิอาจรู้
ประเทศชาติ มิอาจละเลย
ด้วยรักและห่วงใย…

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘เศรษฐา’ ลาป่วยติดโควิด กลับมาปฎิบัติงานวันที่ 19 มิ.ย.นี้

นายกรัฐมนตรี ได้พบแพทย์ หลังจากมีอาการป่วย อ่อนเพลียเล็กน้อย ตั้งแต่วันศุกร์ ที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา ผลการตรวจพบว่าติดโควิด

ทุบสถิติปีนี้! ไทยติดโควิดใหม่รายสัปดาห์ทะลุ 2.7 พันคน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 2 - 8 มิถุนายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล

โควิดยังไม่แผ่ว! ไทยติดเชื้อใหม่รอบสัปดาห์ 1,801 ราย ดับ 6 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 19 - 25 พฤษภาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 1,801 ราย