'หมอธีระ' อัปเดตผลศึกษาใช้ยาต้านโควิด กับ 'โอมิครอน'

10 ธ.ค. 2564 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 585,997 คน ตายเพิ่ม 6,764 คน รวมแล้วติดไปรวม 268,687,825 คน เสียชีวิตรวม 5,301,800 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร รัสเซีย และโปแลนด์ จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 91.75 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 94.79

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นมากถึงร้อยละ 58.63 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 55.55 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก

…สำหรับสถานการณ์ไทยเรา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 4,203 คน สูงเป็นอันดับ 29 ของโลก หากรวม ATK อีก 1,020 คน ก็ขยับเป็นอันดับ 24 ของโลก ยอดรวม ATK จะเป็นอันดับ 6 ของเอเชีย

…มองสถานการณ์ของแอฟริกาใต้และ UK ล่าสุดระลอกที่ 4 จาก Omicron ทำให้แอฟริกาใต้มีจำนวนติดเชื้อใหม่ทะลุสองหมื่นคนไปแล้ว (22,388 คน) เพิ่มขึ้นสองเท่าในเวลา 10 วัน อัตราการตรวจพบว่าติดเชื้อจากการส่งตรวจสูงถึงเกือบ 30% (Credit: NICD, South Africa)

ในขณะที่ UK สัดส่วนของการตรวจพบ S-gene target failure (ที่บ่งถึงสายพันธุ์ Omicron) สูงขึ้นเร็วมากถึงเกือบ 10% คาดประมาณว่าค่า R ตอนนี้ราว 4.13 (ช่วงความเชื่อมั่น 3.44-4.94) โดยอาจมีจำนวนการติดเชื้อเพิ่มขึ้นสองเท่าได้ในเวลา 2.5 วัน (Credit: Alastair Grant, UEA, UK)

มีข่าวว่ามหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ต มีการติดเชื้อ Omicron ในพื้นที่มหาวิทยาลัยไปแล้วถึง 161 คน ทั้งบุคลากรและนักศึกษา โดยเคสแรกตรวจพบตั้งแต่ 30 พฤศจิกายนและมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นอัตราเพิ่มที่สูงถึง 67% จนทำให้เป็นพื้นที่ระบาดที่ต้องเฝ้าระวัง และสะท้อนว่าสายพันธุ์ Omicron นั้นแพร่เชื้อติดเชื้อกันง่ายมาก (Credit: Helen Salisbury, independent SAGE)

นอกจากนี้ ทาง Public Health Scotland ได้ร้องขอให้ประชาชนยกเลิกการจัดปาร์ตี้คริสต์มาสแล้ว เพื่อควบคุมการระบาดของ Omicron ในประเทศ

…อัปเดตเรื่องผลของ monoclonal antibodies ต่อการยับยั้ง Omicron

Xie X และคณะ จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ทำการศึกษาดูผลของยา monoclonal antibodies ชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันว่าสามารถยับยั้ง Omicron ได้ดีเพียงใด เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น

ผลการศึกษาซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างการรีวิว พบว่า Omicron ดื้อต่อ monoclonal antibodies เป็นส่วนใหญ่ เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา

อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูงานวิจัยตัวเต็มที่ผ่านการรีวิวแล้ว และดูผลการศึกษาจากที่อื่นๆ ด้วยว่าได้ผลสอดคล้องกันหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ก็เป็นแนวโน้มที่ไม่ดีนัก

…Omicron ทำให้ป่วยรุนแรงน้อยลงจริงหรือไม่?

แม้ข้อมูลโดยคร่าวจากที่เราเห็นในแอฟริกาใต้ และประเทศอื่นบางประเทศในช่วงแรกของการระบาดของ Omicron จะมีจำนวนเคสป่วยรุนแรงน้อยลงกว่าเดิม แต่ต้องเน้นย้ำว่ายังไม่สามารถสรุปได้ จำเป็นจะต้องมีการติดตามต่อไปอีกระยะ เพราะการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตนั้นมักจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดหลังจากการติดเชื้อไปสักระยะหนึ่ง รวมถึงระยะเวลาในการรายงานด้วย

Natalie E Dean จาก Emory Rollins School of Public Health ได้วิเคราะห์เหตุผลเพิ่มเติมให้เข้าใจชัดเจนขึ้นว่า Omicron อาจทำให้ป่วยรุนแรงเท่าเดิมก็เป็นได้ แต่ปรากฏการณ์ที่เราเห็นอยู่นั้นเกิดจากการเพิ่มขึ้นของตัวหาร กล่าวคือ Omicron ทำให้คนที่เคยติดเชื้อมาก่อนเกิดการติดเชื้อซ้ำได้มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้นั่นเอง

นอกจากนี้อย่าลืมว่า ประชากรจำนวนไม่น้อยที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว และหากวัคซีนมีประสิทธิภาพในการลดป่วยรุนแรง ลดโอกาสเสียชีวิต ก็จะยิ่งทำให้การติดเชื้อ Omicron ที่เกิดขึ้นเป็นไปในลักษณะที่มีอาการไม่รุนแรงเช่นกัน

ดังนั้นการแปลผลจากภาพที่เห็น จึงต้องมีการวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนก่อนจะสรุป มิฉะนั้นจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดในคนหมู่มากในสังคม ทำให้ไม่ระมัดระวังอย่างเพียงพอ และจะเกิดการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว คุมได้ยาก สุดท้ายแล้วก็จะเกิดการสูญเสีย ทั้งในเรื่องการป่วย การเสียชีวิต และเป็นภาระหนักแก่ระบบสุขภาพและสังคม

…สำหรับประชาชนไทยอย่างพวกเรา ขอให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ใส่หน้ากากเสมอ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า เว้นระยะห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตร เลี่ยงการตะลอนท่องเที่ยว เลี่ยงการปาร์ตี้สังสรรค์ครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน

โควิดกลับมาระบาดใหม่ ‘หมอมนูญ’  ขออย่าตื่นตระหนก รักษาตามอาการหายได้

เวลาผ่านไปโรคโควิดลดความรุนแรงลง โรคโควิดไม่น่ากลัวหมือนเมื่อ 3-4 ปีก่อน คนไทยไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจกลัวโรคโควิดมากเกินไป

สายการบิน 'ลุฟท์ฮันซา' ต้องจ่ายค่าปรับกรณีเลือกปฏิบัติต่อผู้โดยสารชาวยิว

สายการบินลุฟท์ฮันซาต้องจ่ายค่าปรับจำนวน 4 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกา เหตุเพราะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดขอ

ไทยติดโควิดรอบสัปดาห์ 353 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 6 - 12 ตุลาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่