'อัศวิน' เร่งรณรงค์ให้ คน กทม.มาฉีดวัคซีนต่อเนื่อง ล่าสุดชวนละทะเบียนแอป QueQ รับวัคซีนได้ทั้ง 3 เข็ม หากมีอายุ 18 ปีขึ้นไปไม่ว่าสัญชาติไหน
09 ธ.ค.2564 - พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเร่งลงพื้นที่และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 รีบเข้ารับวัคซีนให้ครบทุกคน เนื่องจากขณะนี้มีการพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ คือ โอมิครอน (Omicron) กำลังระบาดในหลายประเทศ การรับวัคซีนโควิด-19 จะช่วยลดอาการไม่ให้รุนแรงหากมีการติดเชื้อเกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรเข้ารับวัคซีนโดยเร็ว
“ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้เร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่องทุกวัน ทั้งการจัดส่งเจ้าหน้าที่ชุด CCRT เดินเท้าเข้าไปให้บริการฉีดวัคซีนถึงบ้านหรือชุมชน การจัดรถบริการ ฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ (BKK Mobile Vaccination Unit : BMV) ให้บริการในจุดต่างๆ ที่ประชาชนไม่สะดวกเดินทางมายังจุดบริการวัคซีน รวมถึงการเพิ่มความสะดวกในการลงทะเบียนขอรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ผ่านแอปพลิเคชัน “QueQ” เพื่อเข้ารับวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กรุงเทพมหานคร ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง หรือโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 11 แห่ง ซึ่งในอนาคตอยู่ระหว่างการเพิ่มจุดให้บริการวัคซีนเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมและเข้าถึงประชาชนได้มากที่สุดด้วย”
พล.ต.อ.อัศวินระบุว่า ปัจจุบัน กทม.ได้ให้บริการวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประชาชนทุกกลุ่มทุกสัญชาติ ประกอบด้วย เข็มที่ 1 สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มที่ 2 สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดใดก็ตามมาแล้ว 1 เข็ม จะต้องเว้นระยะห่างระหว่างเข็ม ตามกำหนดของชนิดวัคซีนเข็มแรก และเข็มที่ 3 สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบ 2 เข็ม ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือตามที่ได้รับการจัดสรร รวมถึงเข็มกระตุ้นหลังติดเชื้อ สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และรักษาหายแล้ว 1 เดือนขึ้นไป
สำหรับช่องทางการรับวัคซีนมี 3 ช่องทาง ได้แก่ ช่องทางที่ 1 สำหรับประชาชนทั่วไป สามารถนัดหมายขอรับวัคซีนได้ทางแอปพลิเคชัน “QueQ” โดยมีขั้นตอนการลงทะเบียน ดังนี้ 1. สแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) เพื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “QueQ” 2. เข้าแอปพลิเคชัน “QueQ” เลือก “ศูนย์ฉีดวัคซีน กทม.” 3. เลือกสถานที่เข้ารับบริการ ได้แก่ ที่ประสงค์เข้ารับวัคซีน “กรุงเทพฯ เมืองยิ้ม ปลอดโรคโควิด19 อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง” หรือเลือกรับวัคซีน ที่โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 11 แห่ง ที่อยู่ใกล้บ้าน ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน โรงพยาบาลคลองสามวา และโรงพยาบาลบางนากรุงเทพมหานคร 4. กรอกเลขบัตรประชาชน/เลขหนังสือเดินทาง กดต่อไป และ 5. เลือกวันที่รับบริการ และเวลาที่ต้องการ กดยืนยัน ช่องทางที่ 2 เป็นการลงทะเบียนนัดหมายขอรับวัคซีนแบบองค์กรหรือกลุ่ม (Group vaccination) ที่มีจำนวนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป (เฉพาะศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กรุงเทพมหานคร ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง) โดยสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) เพื่อลงทะเบียนออนไลน์ผ่าน GOOGLE FORM เช่น กลุ่มพนักงานจากร้านหรือผู้ประกอบการขนาดเล็ก กลุ่มคนงาน จากแคมป์ก่อสร้าง เป็นต้น และช่องทางที่ 3 การลงทะเบียนรับวัคซีน ณ จุดบริการวัคซีน (เฉพาะศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กรุงเทพมหานคร ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง)
สำหรับประชาชนทั่วไปทุกสัญชาติ อายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ประสงค์ฉีดวัคซีนแต่ไม่สะดวกลงทะเบียนออนไลน์ สามารถเดินทางมาลงทะเบียนขอรับวัคซีน ณ จุดบริการวัคซีน โดยในวันรับวัคซีนให้นำเอกสารมาแสดงตน ดังนี้ 1.บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ใช้ยืนยันตัวตน เช่น หนังสือเดินทาง (PASSPORT) 2. หลักฐานการจองคิวผ่านแอปพลิเคชัน “QueQ” บนมือถือ 3. หลักฐานรับรองการได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือใบรับรองแพทย์ว่าเคยติดเชื้อโควิด-19 กรณีลงทะเบียนฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เข็มที่ 3 หรือ เข็มกระตุ้นหลังติดเชื้อ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เช็กเลย! ค่าฝุ่น PM2.5 รายพื้นที่ทั่วไทย
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ณ 07:00 น. สรุปดังนี้
คน กทม. เกินครึ่งไม่เห็นด้วยมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด
นย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจ ของประชาชน เรื่อง “สองมาตรการใหม่ คน กทม. จะเอาไง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระจายระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความคิดเห็นของคนกรุงเทพมหานคร หากมีการใช้มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเก็บขยะและค่าธรรมเนียมรถติด
เช็กเลย! ค่าฝุ่น PM2.5 ทั่วประเทศ 'เหนือ-กทม.' ยังอ่วม
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศประจำวันที่ 6 ธันวาคม 2567 ณ 07:00 น. สรุปดังนี้