นักไวรัสวิทยาชี้ 'โอไมครอน' มีโอกาสสูงแพร่เชื้อทางอากาศ

5 ธ.ค. 2564 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และนักไวรัสวิทยา โพสต์เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana รายละเอียดของผู้ป่วยติดเชื้อโอมิครอน 2 รายแรกของฮ่องกง ได้ถูกเผยแพร่โดยทีมวิจัยจาก University of Hong Kong ผู้ป่วยรายแรก (Case A) เดินทางมาจากประเทศแอฟริกาใต้ ถึงฮ่องกงวันที่ 11 พฤศจิกายน และได้เข้ากักตัวในโรงแรมแห่งหนึ่ง ผู้ป่วยรายนี้ได้ตรวจ RT-PCR ผลออกมาเป็นลบ 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง และ เป็นผู้ได้รับวัคซีน Pfizer ครบสองเข็มไปตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา ผู้ป่วยรายที่สอง (Case B ) เดินทางมาจากประเทศแคนาดา ถึงฮ่องกงก่อนรายแรกคือวันที่ 10 พฤศจิกายน ได้รับการตรวจ RT-PCR ที่ต้นทางเป็นลบ และ รับ Pfizer เข็มสองไปตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม ทั้งคู่ได้กักตัวอยู่ในโรงแรมเดียวกัน โดยห้องอยู่ตรงข้ามกัน

Case A ตรวจพบผล RT-PCR เป็นบวกหลังกักตัวในโรงแรมเพียง 2 วัน โดยปริมาณไวรัสที่ตรวจได้ค่อนข้างสูง คือ Ct = 18 โดยหลังจากนั้นได้ถูกส่งไปที่โรงพยาบาลต่อ แต่ไม่มีรายงานว่าผู้ป่วยรายนี้มีอาการใดๆ ส่วน Case B ตรวจผลออกมาเป็นบวกหลังกักตัวนานถึง 8 วัน แต่เค้าเริ่มมีอาการป่วยเล็กน้อยตั้งแต่วันที่ 7 ของการกักตัว ก่อนส่งไปรักษาตัวต่อในโรงพยาบาล

ทีมวิจัยรายงานว่า การตรวจดูทีวีวงจรปิดตลอดเวลาที่ผู้ป่วยทั้งสองกักตัว ทั้งคู่ไม่เคยออกจากห้องกักตัวและมีปฏิสัมพันธ์ใดๆ ไม่มีการใช้สิ่งของร่วมกัน ตลอดจนไม่มีบุคคลที่สามที่เข้าไปในห้องของแต่ละคน จังหวะเดียวที่แต่ละคนจะเปิดประตูห้องออกมาพร้อมๆกันคือ เพื่อรับอาหารที่วางไว้หน้าประตูห้องเท่านั้น ซึ่งใช้เวลาสั้นๆ นอกจากนั้นก็อาจจะเป็นช่วงที่มีคนเข้าไปทำการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจ RT-PCR ซึ่งทำทุก 3 วัน แต่เนื่องจากทั้งคู่มาพักไม่พร้อมกัน ทำให้การเก็บตัวอย่างดังกล่าวของแต่ละคนไม่ได้ทำวันเดียวกัน การถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสของทั้ง 2 คน ยืนยันว่าเป็นไวรัสโอมิครอน ที่มีรหัสพันธุกรรมเหมือนกันมากๆ แตกต่างกันเพียงแค่ 1 ตำแหน่ง ซึ่งเชื่อว่าเป็นไวรัสตัวเดียวกัน และ เกิดการแพร่หากันจากการที่อยู่ในห้องพักตรงข้ามกันในช่วงเวลา 2 วันที่ Case A พำนักอยู่ในห้อง และ มีโอกาสสูงที่จะแพร่ทางอากาศมากกว่าการสัมผัส หรือ ละอองฝอย

ถ้าวิเคราะห์ตามข้อมูลนี้ Case B อาจจะสัมผัสเชื้อครั้งแรกวันที่ 11 และ เริ่มมีอาการป่วยวันที่ 17 ทำให้อนุมานคร่าวๆได้ว่า ระยะฟักตัวของโอมิครอนคงใช้เวลาประมาณ 6 วัน หรือ น้อยกว่านั้นขึ้นอยู่กับว่าการสัมผัสเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ปริมาณไวรัสในตัวอย่างของทั้งสองคนมีปริมาณที่สูงทั้งคู่ ถึงแม้ว่าทั้งคู่จะมีภูมิจากวัคซีน Pfizer มาแล้ว 2 เข็ม แต่เนื่องจากได้รับวัคซีนมาแล้วประมาณ 5 เดือน ซึ่งอาจจะอนุมานได้ว่าระดับภูมิคุ้มกันที่เหลืออยู่คงไม่พอที่จะป้องกันโอมิครอนได้ หรือ โอมิครอนต้องการระดับภูมิคุ้มกันสูงกว่านั้นมาก แต่ประเด็นที่สำคัญคือ ทั้งคู่อาการไม่หนักซึ่งอาจจะเป็นผลจากภูมิจากวัคซีนที่ยังช่วยได้ ทั้งนี้ข้อมูลยังมาจากแค่ 2 เคส คงต้องมีตัวอย่างมาเพิ่มกว่านี้ก่อนที่จะสรุปตัวเลขต่างๆอย่างเป็นทางการได้

ที่มา
https://wwwnc.cdc.gov/eid/article/28/2/21-2422_article

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พบข้อมูล ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ถ้าติดเชื้อ ฝีดาษลิง พบเสี่ยงเสียชีวิตสูงถึง 27%

อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)

ข่าวดี! วัคซีนเข็มกระตุ้น 2 สายพันธุ์ลดป่วยและตายเห็นผลชะงัก

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาฯ บอกข่าวดีวัคซีนเข็มกระตุ้น 2 สายพันธุ์ลดป่วยและตายจากการติดเชื้อเห็นผลชัดเจน หลังผลวิจัยในอิสราเอลที่ฉีดถึง 6 แสนคนลดอัตรานอน รพ.และตายถึงกว่า 80%