อาจารย์หมอจุฬาฯ อัปเดตเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด19 ของโลก

หมอธีระอัปเดตความรู้เรื่องวัคซีนโควิด-19 ชี้วัคซีนรุ่นเดิมแม้ลดความเสี่ยงในการป่วยรุนแรงแต่ประสิทธิภาพเริ่มลดลง คาดต่อไปการฉีดกระตุ้นน่าจะเป็นประเภทสายพันธุ์เดียว หรือ Monovalent vaccine

01 มิ.ย.2566 - นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กว่า อัปเดตความรู้วัคซีนโควิด-19 จากการประชุมเชิงปฏิบัติการของ International Coalition of Medicines Regulatory Authorities (ICMRA) ซึ่งมีการนำเสนอข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 และอภิปรายเกี่ยวกับทิศทางวัคซีนในอนาคต สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

หนึ่ง วัคซีนรุ่นดั้งเดิมซึ่งมีส่วนประกอบของสายพันธุ์ดั้งเดิมนั้น แม้จะยังพอช่วยลดความเสี่ยงในการป่วยรุนแรงได้ แต่ประสิทธิภาพก็ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ทั้งนี้จากการติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของไวรัส พบว่าไวรัสที่ระบาดในปัจจุบันมีลักษณะที่แตกต่างจากสายพันธุ์ดั้งเดิมอย่างมาก

สอง งานวิจัยเกี่ยวกับระดับภูมิคุ้มกันจากวัคซีนนั้น ชี้ให้เห็นว่า การปรับวัคซีนให้มีสายพันธุ์ที่สอดคล้องกับสายพันธุ์ที่ระบาดจะกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ดีกว่าวัคซีนสายพันธุ์ดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนเกี่ยวกับสรรพคุณในการป้องกัน

สาม Omicron สายพันธุ์ย่อย XBB นั้นเป็นสายพันธุ์ไวรัสที่ระบาดหลักทั่วโลก และมีลักษณะทางพันธุกรรมที่แตกต่างจากสายพันธุ์ดั้งเดิมมาก ดังนั้น XBB จึงน่าจะเป็นแคนดิเดตของสายพันธุ์ไวรัสที่ควรใช้ในการผลิตวัคซีนรุ่นใหม่เพื่อนำมาใช้

สี่ วัคซีนสำหรับฉีดกระตุ้นในอนาคตน่าจะเป็นประเภทสายพันธุ์เดียว หรือ Monovalent vaccine ทั้งนี้เพราะปัจจุบันคนส่วนใหญ่ทั่วโลกมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดิมๆ อยู่แล้ว ทั้งจากการได้รับวัคซีนรุ่นดั้งเดิม และที่เคยติดเชื้อมาก่อนจากระลอกที่ผ่านๆ มา

ห้า วัคซีนแบบ Monovalent นั้น สามารถใช้เป็นวัคซีนเข็มแรกเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในคนที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันได้ด้วย เนื่องจากปัจจุบันสายพันธุ์เดิมๆ ที่เคยระบาดนั้นได้หายไปแทบทั้งหมดแล้ว จึงไม่น่าจะมีความจำเป็นที่จะบรรจุสายพันธุ์เดิมๆ ในวัคซีนที่จะใช้ในอนาคต

หก คาดการณ์ว่า การใช้วัคซีนเพื่อฉีดสร้างภูมิคุ้มกันในคนที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันนั้น อาจใช้ในประชากรเฉพาะกลุ่ม อาทิ เด็กที่อายุน้อยกว่า 4-5 ปี อย่างไรก็ตาม อาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่ละภูมิภาคของโลก ขึ้นอยู่กับข้อมูลการสำรวจภูมิคุ้มกัน และสถานการณ์การระบาดที่ผ่านมา

เจ็ด มีความจำเป็นที่จะต้องมีกลไกการติดตามข้อมูลภาพรวมทั่วโลก และตัดสินใจระดับนโยบายเพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ต่างๆ ของไวรัสที่จะใช้ผลิตวัคซีน โดยอาศัยข้อมูลวิชาการที่ครบถ้วน และที่สำคัญคือ ต้องพิจารณาเงื่อนเวลาให้เหมาะสม เพราะสัมพันธ์กับภาคอุตสาหกรรมวัคซีนที่ต้องใช้เวลาในการผลิต และนำส่งไปสู่ผู้ใช้

...เหนืออื่นใด เราคงต้องตระหนักถึงสถานการณ์จริงในปัจจุบันว่า การระบาดทั่วโลกยังไม่ได้สิ้นสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ที่ยังมีการติดเชื้อกันอยู่มากในแต่ละวัน วัคซีนช่วยในการลดเสี่ยงป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ระดับหนึ่งเท่านั้น

สิ่งสำคัญที่สุดคือ การใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวสม่ำเสมอ พึงรับรู้ไว้ว่า ติดเชื้อแต่ละครั้ง เสี่ยงป่วย รุนแรง และเสียชีวิต รวมถึงเกิด Long COVID ในระยะยาวได้ ระมัดระวังที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี เลี่ยงการกินดื่ม แชร์ของใช้ร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน

หากตัวเราหรือสมาชิกในครอบครัวไม่สบาย ควรรีบแยกตัว ป้องกันตัวตามมาตรฐานที่แนะนำ และไปรับการตรวจรักษา การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

อ้างอิง
ICMRA COVID-19 Omicron variant workshop. International Coalition of Medicines Regulatory Authorities (ICNRA). 8 May 2023.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หมอธีระ’ ห่วงผู้ป่วยโควิดรอบสัปดาห์ มีอาการปอดอักเสบเพิ่มขึ้น

สัญญาณที่น่าเป็นห่วง และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  โควิด-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา ไม่กระจอก ไม่ได้เป็นไปตามฤดูกาล

อาจารย์หมอ วิเคราะห์การระบาดโควิด มาจาก โอมิครอน สายพันธุ์ JN.1 เป็นหลัก

แม้ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยจะเป็นขาลง แต่จำนวนคนที่ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันยังมีจำนวนไม่น้อย จึงควรใช้ชีวิตโดยไม่ประมาท

อาจารย์หมอจุฬาฯ วิเคราะห์การระบาดโควิดไทย อยู่ในช่วง ’ขาลง’

ตัวเลขสัปดาห์ล่าสุด 25 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2024 จำนวนผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล 462 ราย เสียชีวิต 2 ราย ปอดอักเสบ 263 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 91 ราย