ผลวิจัยชี้ชัดหยุดงานช่วงติดโควิดลดการแพร่เชื้อในสถานที่ทำงานถึง 44%

'หมอธีระ' อัปเดตความรู้เรื่องโควิด ชี้นโยบายให้หยุดงานเมื่อป่วยช่วยลดการแพร่เชื้อในที่ทำงานถึง 44% ย้ำ Long COVID สัมพันธ์กับการคงค้างของไวรัสหรือชิ้นส่วนของไวรัสในร่างกาย

11 พ.ค.2566 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด19 ประจำวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 45,454 คน ตายเพิ่ม 148 คน รวมแล้วติดไป 688,034,049 คน เสียชีวิตรวม 6,872,477 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส เวียดนาม รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 90.31 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 75

...นโยบายให้หยุดงานเมื่อป่วยจะลดการระบาดในที่ทำงานได้มาก Kurogi K และคณะจาก University of Occupational and Environmental Health เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยที่เมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ในวารสารวิทยาศาสตร์ Heliyon เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยทำการศึกษาตั้งแต่ปี 2020-2021 ในพนักงานที่ทำงานในสถานประกอบการต่างๆ จำนวน 11,982 คน พบว่า สถานที่ทำงานที่มีนโยบายให้พนักงานที่มีอาการป่วยงดมาปฏิบัติงาน จะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อแพร่เชื้อโรคโควิด-19 ในที่ทำงานได้ถึง 44% (RR: 0.56, 95% CI: 0.34-0.91)

...ผลการศึกษาข้างต้น ตอกย้ำให้เราเห็นความสำคัญของนโยบายของสถานที่ทำงาน ที่จะช่วยดูแลเอาใจใส่สวัสดิภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง โดยให้หยุดงานหากมีอาการป่วย รวมถึงการทำงานที่บ้านผ่านออนไลน์ ก็จะเกิดประโยชน์ทั้งต่อตัวลูกจ้างเอง เพื่อนร่วมงาน ครอบครัว และลดความเสี่ยงของกิจการเองด้วย จะได้ไม่เกิดการป่วยพร้อมกันจำนวนมากจากการระบาดเป็นกลุ่มก้อน

...Long COVID สัมพันธ์กับการคงค้างของไวรัสในร่างกายระยะยาว Yang C และคณะจากประเทศแคนาดา ได้ทบทวนหลักฐานและองค์ความรู้วิชาการแพทย์จนถึงปัจจุบัน เกี่ยวกับภาวะ Long COVID เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ระบบทางเดินหายใจ The Lancet Respiratory Medicine วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ชี้ให้เห็นว่ามีงานวิจัยจากทั่วโลก ทั้งอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ที่มีการตรวจพบการคงค้างของไวรัสและ/หรือชิ้นส่วนของไวรัสในระบบต่างๆ ของร่างกาย ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก ที่เคยมีประวัติติดเชื้อโรคโควิด-19 และมีอาการผิดปกติคงค้างระยะยาวตามมา

ไม่ว่าจะเป็นการตรวจพบในเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ เนื้อเยื่อจากสมอง ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ฯลฯ ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานทางการแพทย์ที่มีการศึกษาแล้วพบว่า อาการผิดปกติในผู้ป่วย Long COVID นั้นเกิดจากการอักเสบเรื้อรัง, การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ, รวมถึงระบบควบคุมการแข็งตัวของเลือดผิดปกติโดยเกิดลิ่มเลือดขนาดเล็กอุดตันหลอดเลือดขนาดเล็ก ซึ่งกลไกเหล่านี้น่าจะสัมพันธ์กับการคงค้างของไวรัสหรือชิ้นส่วนของไวรัสในร่างกาย

...การติดเชื้อแต่ละครั้งจึงไม่ได้จบแค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยได้ ป่วยรุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติระยะยาว Long COVID ได้ด้วย ดังนั้นการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด

......สถานการณ์ไทยเรา มีคนติดเชื้อกันมาก ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวเสมอ เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี ไม่ควรแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

อ้างอิง
1.Kurogi K et al. Evaluation of workplace infection prevention and control measures for COVID-19: A prospective cohort study in Japan. Heliyon. 3 May 2023.
2.Yang C et al. Association of SARS-CoV-2 infection and persistence with long COVID. The Lancet Respiratory Medicine. 10 May 2023.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอยง' ชี้ 'โควิด' ระบาดหนัก แต่รุนแรงลดลง เข้าใกล้ไข้หวัดใหญ่

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19

เปิดผลวิจัยอเมริกา 'ออกกำลังกาย' เวลาไหนดีกว่ากัน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ประเด็นร้อน.. ออกกำลังเช้า หรือบ่าย-เย็น ดีกว่ากัน

ครม.ปรับเงื่อนไขชดใช้ทุนของ รร.วิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย

ครม.มีมติปรับเงื่อนไขการชดใช้ทุนหลังสำเร็จการศึกษาของนักเรียนทุนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยไปศึกษาต่อ ณ สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น

จุฬาฯ ผงาดเจ้าภาพครั้งแรกของเวทีระดับโลก ‘Hult Prize 2024 Global Summits Bangkok’

การแข่งขันระดับโลกในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโค้งสุดท้ายในระดับนานาชาติ Bangkok” ระหว่างวันที่ 21 – 23 มิถุนายน 2567