ผลวิจัยชี้โมลนูพิราเวียร์ช่วยลดเสี่ยง Long COVID ได้ 14%

นพ.ธีระเผยคนติดเชื้อโควิดทั่วโลกพุ่งเกินครึ่งแสน XBB.1.16.x แพร่แล้ว 42 ประเทศ ยกผลวิจัยเมืองมะกันบอกโมลนูพิราเวียร์ช่วยลดความเสี่ยงปัญหา Long COVID ได้ 14%

26 เม.ย.2566 - นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 26 เมษายน 2566 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 51,316 คน ตายเพิ่ม 284 คน รวมแล้วติดไป 686,624,401 คน เสียชีวิตรวม 6,860,530 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส รัสเซีย และเวียดนาม เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 96.1 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 91.54

...อัปเดตสถานการณ์ XBB.1.16.x
ข้อมูลจาก GISAID (Cr: Rajnarayanan R) ล่าสุดพบว่า XBB.1.16.x นั้นแพร่ไปแล้ว 42 ประเทศ หากดูลักษณะการกระจายของสายพันธุ์ย่อยของ XBB.1.16.x จะพบว่า แถบไทยและประเทศใกล้เคียง สัดส่วนหลักเป็น XBB.1.16 และมีตัวลูกหลาน ทั้ง XBB.1.16.1, XBB.1.16.2, XBB.1.16.3, FU.1, และ FU.2

...Molnupiravir ลดความเสี่ยง Long COVID ได้ 14% Xie Y และทีมงานจาก VA Saint Louis Health Care System ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการวิจัยในวารสารการแพทย์ British Medical Journal วันที่ 25 เมษายน 2566 ศึกษาติดตามประชากรที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 และได้รับยา Molnupiravir จำนวน 11,472 คน เปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่ไม่ได้รับยา 217,814 คน พบว่ากลุ่มที่ได้รับยา Molnupiravir มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหา Long COVID (Post-acute sequelae) น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับยาราว 14%

...การติดเชื้อโรคโควิด-19 แต่ละครั้งนั้น ไม่ได้เป็นหวัดหรือหวัดใหญ่ แต่ป่วยหนักได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อ Long COVID ซึ่งจะบั่นทอนสมรรถนะในการดำรงชีวิต และทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง รวมถึงเกิดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามมาระยะยาว ความรู้ปัจจุบันในการป้องกัน Long COVID นั้น ยังยืนยันว่า การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด

การฉีดวัคซีนครบเข็มกระตุ้น จะช่วยลดเสี่ยง Long COVID ได้ 43% ยา Metformin ช่วยลดได้ 42%
ยา Paxlovid ช่วยลดได้ 26% และยา Molnupiravir ช่วยลดได้ 14%

...สถานการณ์ไทยเรา มีคนติดเชื้อกันมาก ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวเสมอ เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี ไม่ควรแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

อ้างอิง Molnupiravir and risk of post-acute sequelae of covid-19: cohort study. BMJ 2023;381:e074572. (Published 25 April 2023)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หมอธีระ’ ข้องใจตัวเลขโควิด สัปดาห์ก่อนพุ่งอาทิตย์นี้ลดฮวบ ไม่ใช่เรื่องปกติ

สัปดาห์ก่อน ตัวเลขนอนรพ.พุ่งขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อนหน้านั้นถึง 78% แต่สัปดาห์ล่าสุดนี้ ลดลงฮวบฮาบจากสัปดาห์ก่อนถึง 57.7% ส่วนตัวคิดว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ควรต้อง explore

'หมอยง' ชี้ 'โควิด' ระบาดหนัก แต่รุนแรงลดลง เข้าใกล้ไข้หวัดใหญ่

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19