หมอโอ๊ตไล่เรียงเรื่องโควิดกลายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 ให้เข้าใจง่ายๆ ตอกย้ำให้รตะหนักแต่อย่าตะหนก เตือนให้ไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
19 เม.ย.2566 - นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ ผู้อำนวยการอาวุโสโครงการพิเศษพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสาร ประจำศูนย์การแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “อาร์คทัวรัสมาแล้วววว” มีเนื้อหาว่า
1.อาร์คทัวรัส (Arcturus) หรือดาวดวงแก้ว เป็นดาวในกลุ่มดาวนายพรานที่มีความสุกสว่างมากบนฟากฟ้า
ตอนนี้น้องได้กลายมาเป็นชื่อของโควิดกลายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 ที่ทั่วโลกต้องจับตาเป็นที่เรียบร้อยจ้าาา
2.หลังจากปล่อยให้ชาวโลก หายใจโล่งๆกันมาระยะหนึ่ง โควิดกลับมาทวงบัลลังก์คืนละครับ น้องดาวดวงแก้วเป็นรุ่นเหลนของโอมิครอนครับ พบครั้งแรกที่อินเดียเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมานี่เอง นักวิจัยพบว่าน้องมีการเปลี่ยนแปลงโปรตีนหนามในตำแหน่งที่สำคัญ ราวๆสามจุด ทำให้มันมีศักยภาพหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีมากๆ เกาะเซลล์ได้ดีมากๆๆๆ และมีความสามารถในการกลายพันธุ์ได้ง่ายมากๆด้วย
3.ดาวดวงแก้ว (ชื่อคล้ายนวลเนื้อแก้วเลยแฮะ) กำลังจะกลายมาเป็นแม่ของโควิดทุกสถาบันในเร็ววันนี้
4.แม่ทุกสถาบัน ยังไง…
- มันติดง่ายมาก คนที่ฉีดวัคซีนแล้ว คนที่เคยเป็นโควิดมาแล้ว สามารถเป็นได้อีกครับ
- นั่นทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาลของประเทศไทย ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉพาะวันที่ 9 - 15 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 435 คน เฉลี่ยวันละ 62 คน เพิ่มขึ้นประมาณ 7 เท่าเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา
- อย่าลืมนะครับว่า ตัวเลขนี้ คือคนป่วยที่มาโรงพยาบาล น่าจะมีคนอีกจำนวนมากที่รักษาตัวเอง กินยาเองอยู่ที่บ้าน ดังนั้นตัวเลขของผู้ติดเชื้อน่าจะมีมากกว่านี้หลายเท่า
- หมายความว่าถ้าหากดาวดวงแก้วยังมีการระบาดในอัตราที่รวดเร็วเช่นนี้ อีกไม่กี่สัปดาห์น้องดาว จะคุมพื้นที่การระบาดแทนสายพันธุ์เก่าในอีกไม่นาน
5.อาการของอาร์คทัวรัส ยังคล้ายกับการติดเชื้อโควิดอื่นๆ ที่ผ่านมา ลักษณะเด่น นอกจากไข้ ไอ มีน้ำมูก อ่อนเพลียแล้ว เท่าที่มีโอกาสได้คุยกับคนไข้ก็คือ
- อาการตาแดง เนื่องจากเยื่อบุตาอักเสบ
- ขี้ตาเหนียว ลืมตาไม่ขึ้น
- อาการไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส
- และอาการเจ็บคอมากๆ เหมือนมีดบาดครับ
6.อย่างไรก็ตาม อย่างที่ผมเน้นเสมอว่าตระหนัก แต่อย่าตระหนกครับ ถึงจะระบาดไว เป็นแล้วก็เป็นได้อีก
แต่หนูดาวดวงแก้ว ไม่ได้ทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงถึงชีวิตมากกว่าโควิดตัวเก่าๆ ยังไม่ดื้อยา และยังสามารถรักษาได้ด้วยแนวทางเดิม สิ่งสำคัญสำหรับเราก็คือ รักษามาตรการทางสาธารณสุขให้ดี และไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น หากได้รับเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือนครับ
7.คงไม่ต้องสงสัยแล้วว่า การฉีดวัคซีนสามารถลดการแพร่กระจายและความรุนแรงของโรคได้อย่างมีนัยสำคัญ เพราะวิจัยทุกฉบับยืนยันตรงกันครับ โดยแนวทางการฉีดวัคซีนในปัจจุบันที่กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยแนะนำคือ ให้ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม แต่ละเข็มห่างกันประมาณ 3-4 เดือน สิ่งนี้เรียกว่า “วัคซีนพื้นฐาน” และควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามคำแนะนำของแพทย์สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงครับ
8.สำหรับความถี่ในการฉีดวัคซีนไวรัสโควิดเข็มกระตุ้นนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยความเสี่ยงส่วนบุคคล เช่น อายุ โรคประจำตัวและสภาวะสุขภาพอื่นๆ ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศทางแถบยุโรป แนะนำให้บุคคลอายุ 18 ปีขึ้นไป ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเป็นวัคซีน mRNA ทุก 6 เดือนครับ
9.วัคซีนเข็มกระตุ้น ยังมีความปลอดภัยสูง อาจจะมีผลข้างเคียงตามปกติของการฉีดวัคซีน แต่คุ้มค่ากว่าปล่อยให้ป่วยครับ ผู้ที่ฉีดวัคซีนพื้นฐานร่วมกับวัคซีนเข็มกระตุ้นรวมห้าเข็ม วิจัยพบว่ามีภูมิคุ้มกันมากกว่าบุคคลที่ได้รับวัคซีนพื้นฐานอย่างเดียวมากถึง 5 - 10 เท่าเลยละครับ
อ้างอิง
- Centers for Disease Control and Prevention. COVID-19 Vaccines for Moderately to Severely Immunocompromised People. https://www.cdc.gov/.../vaccines/recommendations/immuno.html. Accessed 17 Apr 2023.
- European Medicines Agency. Comirnaty: EMA recommends booster dose six months after primary vaccination. https://www.ema.europa.eu/.../comirnaty-ema-recommends.... Accessed 17 Apr 2023.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์จีโนมฯ ไขข้อข้องใจ! โควิด EG.5.1 ระบาดรุนแรงแทนที่ XBB.1.16 หรือไม่
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โอมิครอน EG.5.1 (XBB.1.9.2.5.1) จะมีการระบาดเกิดอาการรุนแรงและเข้ามาแทนที่ XBB.1.16 หรือไม่
นายกฯ วอนกลุ่ม 608 ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด
นายกฯ ห่วงใยประชาชน หลังผู้ป่วยโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขอให้กลุ่มเสี่ยง 608 รีบเข้ารับวัคซีนโดยเร็ว เชิญชวนประชาชนฉีดวัคซีนโควิดควบคู่วัคซีนไข้หวัดใหญ่
ไทยมีรุ่นลูกรุ่นหลานของโควิด-19สายพันธุ์ XBB.1.16 แล้ว!
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์เผยไทยมีรุ่นลูกรุ่นหลานของอาร์คทูรัสแล้ว ถอดรหัสพันธุกรรมแล้วการเติบโตและการแพร่ระบาดแทบไม่ต่างกันไม่ว่าจะเชื้อรุ่นไหน ผลวิจัยย้ำการใช้มาตรการคุมหลากหลายลดตายได้