'นพ.ธีระ' ชี้เชื้อโควิดอาจมีส่วนกระตุ้นโรคประจำตัวต่างๆ ทำให้การเสียชีวิตส่วนเกินของโลกสูงขึ้น!

หมอธีระเผยแม้ภาพรวมผู้ติดเชื้อโควิด19และการเสียชีวิตจะมีแนวโน้มลดลง แต่การเสียชีวิตส่วนเกินกลับเพิ่มสูงขึ้น เชื่อเชื้อโควิดน่าจะกระตุ้นให้โรคประจำตัวต่างๆ รุนแรงขึ้น

12 เม.ย.2566 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด19 ประจำวันที่ 12 เมษายน 2566 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 44,067 คน ตายเพิ่ม 165 คน รวมแล้วติดไป 685,081,713 คน เสียชีวิตรวม 6,838,360 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลกจำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 90.11 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 67.27

...แนวโน้มจำนวนการเสียชีวิตส่วนเกินของโลกสูงขึ้น
แพทย์และนักวิชาการหลายต่อหลายคนชี้ให้เห็นตรงกันว่า แม้ภาพรวมตัวเลขที่รายงานทั้งจำนวนติดเชื้อใหม่ และจำนวนเสียชีวิตจากโควิด-19 โดยตรงจะมีแนวโน้มลดลง อันเป็นผลจากความต้องการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่โดยแท้จริงแล้ว การติดเชื้อ การตายอันเนื่องมาจากโควิด-19 นั้นน่าจะมากกว่าที่เห็นตัวเลขในรายงาน

หลักฐานหนึ่งที่ชี้ให้เห็นกันมาตลอดจากประเทศต่างๆ คือ จำนวนการเสียชีวิตส่วนเกิน หรือ Excess mortality ที่มาจากทุกสาเหตุตลอดช่วงหลายปีของการระบาดนั้นมีค่าเฉลี่ยที่สูงกว่าปีก่อนการระบาดอย่างมาก ทั้งแถบอเมริกา ยุโรป รวมถึงเอเชียอย่างสิงคโปร์ ก็เคยมีการวิเคราะห์ให้เห็นแล้วว่า จำนวนเสียชีวิตส่วนเกินที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่สัมพันธ์กับการติดเชื้อโรคโควิด-19 โดยประเมินว่าการติดเชื้อน่าจะกระตุ้นให้โรคประจำตัวต่างๆ ที่ผู้ป่วยมีอยู่นั้นรุนแรงขึ้น หรือเป็นตัวกระตุ้นหนุนเสริมให้เกิดการเจ็บป่วยจนนำไปสู่การเสียชีวิต

ณ ปัจจุบัน หากดูข้อมูลจาก Ourworldindata ภาพทั่วโลกชัดเจนว่ารายงานตัวเลขติดเชื้อโควิด-19 และการเสียชีวิตจากโควิด-19 ลดลง แต่จำนวนเสียชีวิตส่วนเกินสูงขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้
นี่จึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอระหว่างที่ใช้ชีวิตประจำวัน เพราะตัวเลขที่เห็น อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น และสิ่งที่เป็นอยู่นั้นจะนำไปสู่ปัญหาเรื่องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของเราและสมาชิกในครอบครัว

แม้การรับวัคซีนครบเข็มกระตุ้นจะช่วยลดเสี่ยงป่วยรุนแรง แต่ไม่ได้การันตี 100% และประสิทธิภาพจะลดลงตามเวลาที่ผ่านไป ความรู้ปัจจุบันดังที่เคยนำเสนอให้ทราบไปแล้วนั้นพบว่า หลังจาก 6 เดือนเป็นต้นไป ประสิทธิภาพจะลดลงเหลือราว 25-50% โดยงานวิจัยพบว่ายังคงอยู่ไปได้นานถึงอย่างน้อย 15 เดือน หากมีความเสี่ยงในการใช้ชีวิตประจำวัน ต้องพบปะผู้คนมาก การไปรับเข็มกระตุ้นซ้ำ ก็จะช่วยกระตุ้นภูมิให้สูงขึ้นได้ในช่วง 10-12 สัปดาห์ และจะลดลงไปตามเวลาเช่นกัน

ดังนั้น "การมีพฤติกรรมใส่ใจสุขภาพ และระมัดระวังป้องกันตัวควบคู่กันไปกับเรื่องวัคซีน จึงเป็นเรื่องจำเป็นเสมอ"

...อัปเดตความรู้โควิด-19
Moriyama M และคณะของ Prof.Iwasaki A จากมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการศึกษาล่าสุดวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ในวารสารวิทยาศาสตร์การแพทย์ระดับโลก PNAS

สาระสำคัญคือ การชี้ให้เห็นว่า ไวรัส SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 นั้น สามารถยับยั้งระบบภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ ประเภท CD8 T-cells ผ่านกลไกการยับยั้ง MHC-I expression นั่นแปลว่า การติดเชื้อโควิด-19 นั้น ไวรัสพยายามหาทางเอาตัวรอด โดยสามารถยับยั้งไม่ให้ภูมิคุ้มกันของเราไปทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อ ทำให้ไวรัสสามารถหลบเลี่ยงการทำลาย และสามารถเพิ่มจำนวนต่อไปในร่างกายได้ ซึ่งคณะผู้วิจัยเชื่อว่ากลไกนี้น่าจะเป็นกลไกสำคัญกลไกหนึ่งที่อธิบายการเกิดปัญหาอาการผิดปกติระยะยาวที่เกิดขึ้นในระบบต่างๆ ในร่างกายของผู้ป่วย Long COVID และน่าจะเป็นหนึ่งในหลักฐานที่สนับสนุนการรักษาด้วยยาต้านไวรัส และ/หรือแอนติบอดี้ เพื่อยับยั้งหรือลดจำนวนไวรัสในร่างกายของผู้ติดเชื้อด้วย

...การติดเชื้อแต่ละครั้ง ไม่จบแค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยได้ รุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อ Long COVID ด้วย สงกรานต์นี้ ขอให้ระมัดระวัง ไม่ประมาท เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี ไปเยี่ยมเยียนผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ควรป้องกันตัวและป้องกันท่านให้ดี การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก มีความสุข...อย่างปลอดภัย

อ้างอิง
Moriyama M et al. Enhanced inhibition of MHC-I expression by SARS-CoV-2 Omicron subvariants. PNAS. 10 April 2023.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอยง' ชี้ 'โควิด' ระบาดหนัก แต่รุนแรงลดลง เข้าใกล้ไข้หวัดใหญ่

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19

เปิดผลวิจัยอเมริกา 'ออกกำลังกาย' เวลาไหนดีกว่ากัน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ประเด็นร้อน.. ออกกำลังเช้า หรือบ่าย-เย็น ดีกว่ากัน

จุฬาฯ ผงาดเจ้าภาพครั้งแรกของเวทีระดับโลก ‘Hult Prize 2024 Global Summits Bangkok’

การแข่งขันระดับโลกในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโค้งสุดท้ายในระดับนานาชาติ Bangkok” ระหว่างวันที่ 21 – 23 มิถุนายน 2567

'หมอยง' ชวนฟังบรรยาย 20 มิ.ย. รับมือ RSV ฤดูกาลนี้

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า RSV กำลังจะระบาด