'หมอธีระ' เผย WHO ได้สรุปผลเรื่องการฉีดวัคซีนบอกควรฉีดเข็มกระตุ้น 6-12 เดือนหลังรับเข็มสุดท้าย ยก 10 บทเรียนหมอใหญ่แห่งทำเนียบขาวเตือนคนไทย ชี้โควิด19 ยังไม่จบจริง
29 มี.ค.2566 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด19 ประจำวันที่ 29 มีนาคม 2566 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 61,977 คน ตายเพิ่ม 242 คน รวมแล้วติดไป 683,452,958 คน เสียชีวิตรวม 6,827,884 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ รัสเซีย ญี่ปุ่น และชิลี
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 91.03 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 87.6
...อัพเดตเรื่องแนวทางการฉีดวัคซีนจาก WHO
เมื่อคืนนี้ ทางองค์การอนามัยโลก ได้เผยแพร่สรุปรายงานการประชุมของ Strategic Advisory Group of Experts on Immunization (SAGE) ในช่วง 20-23 มีนาคมที่ผ่านมา
สาระสำคัญเกี่ยวกับคำแนะนำในการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันมีดังนี้
กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้สูงอายุ, คนที่มีโรคประจำตัวคือ เบาหวาน และโรคหัวใจ, คนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น เอชไอวี ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ, เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป, สตรีที่ตั้งครรภ์, และบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานด่านหน้า
คำแนะนำ: ควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น หลังจากที่ฉีดเข็มสุดท้ายไป 6-12 เดือน โดยระยะเวลาการฉีดเข็มกระตุ้นนั้นให้พิจารณาตามปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุ ระบบภูมิคุ้มกัน
ทั้งนี้เด็กเล็กๆ อายุน้อยกว่า 6 เดือนลงมานั้น หากติดเชื้อจะมีโอกาสป่วยรุนแรงได้ ดังนั้นจึงแนะนำให้สตรีที่ตั้งครรภ์ได้รับวัคซีน โดยระหว่างตั้งครรภ์นั้นหากเข็มสุดท้ายได้รับไปเกิน 6 เดือนก็ควรได้รับเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันทั้งแม่และลูก
ส่วนกลุ่มประชากรอื่นๆ ที่แข็งแรงดีนั้น ควรได้รับการฉีดวัคซีนสองเข็มแรกและได้รับเข็มกระตุ้นอย่างน้อย 1 เข็ม
...บทเรียนโควิด-19 ในสายตาของ Anthony Fauci
จากปาฐกถาที่ Georgetown University ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเย็นวันจันทร์ที่ผ่านมา Dr.Anthony Fauci ได้เล่าถึงบทเรียนในมุมมองของเขา สาระสำคัญดังนี้
1.ไม่ควรประมาท แต่ควรเตรียมพร้อมเสมอที่จะรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดคิด
2.ควรตัดสินใจดำเนินมาตรการทางด้านสาธารณสุขเพื่อควบคุมป้องกันโรคตั้งแต่เนิ่นๆ และทำอย่างรวดเร็วทันเวลา
3.ความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ทั่วโลก และการแชร์ข้อมูลแก่กัน เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง
4.ควรประยุกต์ใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมเพื่อให้สามารถดำเนินการศึกษาวิจัยได้อย่างรวดเร็ว
5.ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่เดิมนั้นช่วยให้สามารถคิดค้นวิธีการควบคุมป้องกันโรคได้อย่างรวดเร็วขึ้น
6.การรับมือโรคระบาดทั่วโลกนั้นสามารถทำได้ทั้งแนวทางการจัดการเชื้อโรคชนิดนั้น (Priority pathogen approach) และแนวทางการวางแผนจัดการเชื้อโรคแบบทั้งกลุ่ม (Prototype pathogen approach)
7.ควรให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างคนและสัตว์ เพราะจะเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรค
8.ความไม่เป็นธรรมทางด้านสังคมและสุขภาพที่มีมาอย่างยาวนานนั้นส่งผลต่อสถานการณ์โรคระบาดของทั่วโลก
9.การเผยแพร่ข้อมูลลวงโลกนั้นถือเป็นศัตรู เป็นอุปสรรคต่อการควบคุมป้องกันโรค
10.สำหรับโรคโควิด-19 นั้น มันยังไม่จบ จนกว่ามันจะจบจริง
...สำหรับไทยเรา ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ปรับสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา ที่บ้าน ที่ทำงาน ที่เที่ยว ที่กินดื่ม ให้มีการระบายอากาศให้ดี การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
จดจำบทเรียนวิกฤติและความสูญเสียที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ ทำในสิ่งที่ควรทำ ใช้ความรู้ที่ถูกต้องเพื่อประกอบการตัดสินใจประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ไม่หลงต่อกิเลสและคำลวง
โควิด-19 ยังไม่จบ ติดเชื้อแต่ละครั้ง ป่วยได้ รุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อ Long COVID ความใส่ใจสุขภาพเป็นหัวใจสำคัญที่จะประคับประคองให้เราปลอดภัยไปด้วยกัน ทั้งตัวเรา ครอบครัว และสังคม
อ้างอิง
1. SAGE updates COVID-19 vaccination guidance. WHO. 28 March 2023.
2. Fauci A. The Maloy Distinguished Lecture in Global Health. Geogetown University. 27 March 2023.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดพิกัดเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนในจุฬาฯ
ปีนี้งาน Night Museum at Chula เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดภายใต้แนวคิด “เสน่ห์ Science” ชูเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัวเรา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและเป็นแรงขับเคลื่อนทุกย่างก้าวของคนในปัจจุบัน
ย้อนดู 5 ปี 'โควิด 19' ความสับสนของข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬา โพสต์เฟซบุ๊กว่า
จุฬาฯ เดินหน้ายุทธศาสตร์ใหม่ สร้าง Siam Square ให้เป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน รวมพลคนพิการโชว์พลังครั้งใหญ่ที่สุด!
อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีม PMCU (สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ) และ มูลนิธิ Five for All เปิดงาน Siam Square Walking Street For All ครั้งแรก! บนพื้นที่ใจกลางสยามสแควร์ ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม
'หมอยง' แนะแนวทางแก้ไขหลุดพ้นจากกับดักผลงานวิชาการ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก
อ.ไชยันต์ยกตัวอย่างการอภัยโทษในต่างประเทศที่น่าสนใจ!
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์