'หมออุดม' ผวาโควิดไทยเริ่มกระดกขึ้น ห่วงคลายล็อกหมดอดฉลองปีใหม่

‘หมออุดม’ ยกอุทาหรณ์ยุโรป​ ฉีดวัคซีนแล้วลั้นลาทำยอดพุ่ง​ รับ​ผวาตัวเลขติดเชื้อไทยเริ่มกระดก เตือนประชาชนเคร่งครัดมาตรการ​ ระวังไม่ได้ฉลองปีใหม่​ เบรกนายกฯ ผ่อนคลายพอเหมาะ

26 พ.ย. 2564 – เมื่อเวลา​ 09.10 น.​ ที่ทำเนียบรัฐบาล​ ศ.นพ.อุดม​ คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)​ หรือ​ ศบค.​ กล่าวก่อนการประชุม​ ศบค.​ชุดใหญ่​ ถึงความเป็นห่วงกรณีที่มีหลายเทศกาลในเดือ​น ธ.ค.ว่า​ เป็นห่วงแน่นอน ถ้าดูสถานการณ์ทั้งโลกจะเห็นว่า ตัวเลขกำลังขึ้นมาก โดยเฉพาะในยุโรป และที่ผ่านมาสถานการณ์ของเราก็ตามยุโรป 2-3 เดือนทุกที จึงคิดว่าการผ่อนปรนต้องทำแน่นอน เพียงแต่เราต้องเคร่งครัดเรื่องมาตรการ ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง ไม่เช่นนั้นขึ้นแน่นอน เพราะขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว อากาศเย็นไวรัสจะเติบโตได้ดี และเรื่องวัคซีนเริ่มเห็นได้ชัด ที่ยุโรปใช้วัคซีนที่ดี ครอบคลุม 70-80 เปอร์เซ็นต์​ก็กลับมาบ้านใหม่

สิ่งที่อยากจะเตือน คือ พอเราได้ฉีดวัคซีนแล้วเริ่มจะสบายใจ ลั้นลากันแล้ว ซึ่งในยุโรปภาพตรงนี้ชัดมาก พอฉีดวัคซีนแล้วไม่ใส่หน้ากากอนามัยเลย ไม่มีการเว้นระยะห่าง ทัศนคติตรงนี้ต้องช่วยกันปรับ อย่างเมื่อเช้าวันเดียวกัน​ดูตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ของไทยเริ่มกระดกขึ้นมาแล้ว และหลังจากเราเปิดอะไรสักอย่าง 2-4 สัปดาห์ ตนเชื่อว่าตัวเลขต้องขึ้นแน่นอน เพียงแต่อาจจะไม่เยอะ แต่จะทำให้เป็นปัญหาเกี่ยวกับการเปิดประเทศ อยากย้ำว่าวัคซีนสำคัญสุด ต้องช่วยกันฉีดเป้าหมายฉีดเข็มแรก 50 ล้านคน ขณะนี้ฉีดไป 47 ล้านคนแล้ว เหลืออีก 3 ล้านคน และเดือน ธ.ค.จะครบเข็ม 2 เพราะวัคซีนเพียงพอแน่นอน อยากให้ช่วยกระตุ้นประชาชน อย่างน้อยไม่เจ็บป่วยรุนแรง

ศ.นพ.อุดม กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก​ (WHO) ออกมาเตือนว่าจะมีระบาดใหญ่ อีกทั้งได้ให้ข้อมูลด้วยว่า ประเทศที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าคนเจ็บป่วยรุนแรงน้อยกว่าประเทศที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์เป็นตัวหลัก ตอนนี้จึงอยากบอกว่าฉีดอะไรก็ได้ฉีดไปก่อน เราโชคดีที่มีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นตัวหลัก หรือแม้แต่การที่เราฉีดวัคซีนซิโนแวคเยอะ จากข้อมูลป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงได้แน่นอน ตรงนี้ถือเป็นการช่วยประเทศ ช่วยให้ระบบสาธารณสุขไม่มีภาระมากเกิน ไม่เช่นนั้นเราจะมีปัญหาเรื่องเตียง

“ผมเองกังวลนะ เดี๋ยวจะพูดในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เนื่องจากเราจะมีการผ่อนคลายอะไรอีกหลายอย่าง กลัวจะไม่ได้ฉลองปีใหม่ อันนี้พูดตรงๆ ปีใหม่จะไม่ได้ฉลอง ถ้ามันขึ้นมาวูบๆ ตอนนี้ในยุโรป 4 หมื่นกว่าทุกวัน เยอรมนีก็ขึ้นมาเยอะ เราเดินตามหลังเขามา 2-3 เดือน ดังนั้น​ เราไม่อยากให้เกิด เราอุตส่าห์ทำดีแล้ว อย่างน้อยเราเคร่งครัดมาตรการมากกว่าเขา คงขึ้นบ้าง แต่อย่าให้ขึ้นมาก และคงทำให้เศรษฐกิจมันเดินได้ เรื่องผ่อน​ นายกฯ ก็ยอมผ่อน ผมก็พยายามดึงๆ ไว้บ้างว่ามันต้องพอเหมาะพอสม ไม่อย่างนั้นมันกลับมาใหม่ แล้วต้องล็อกดาวน์ใหม่ มันเรื่องใหญ่มาก” ศ.นพ.อุดม​ ระบุ

ศ.นพ.อุดม​ กล่าวว่า​ ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ของไทยวันนี้ไม่ได้ถือว่าลง และอย่างนี้ถือว่าไม่ดี​ เพราะตัวเลขทรงตัวอยู่ที่ 5-7 พันรายมา 2-3 สัปดาห์แล้ว แสดงว่าไม่ดี ถ้าดีทำไมไม่ลงไปเรื่อยๆ ยิ่งไปดูต่างประเทศที่ตอนนี้เขาขึ้นมาก ไม่มีทางที่เขาขึ้นแล้วเราจะไม่ขึ้น อย่างที่แอฟริกาที่มีเชื้อกลายพันธุ์ แป๊บเดียวมาฮ่องกงแล้ว​ เชื้อไปเร็ว สิ่งที่ตนพูดคือการเตือน แต่ขออย่ากังวล​

ผู้สื่อข่าวถามว่า​ จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่​ การผ่อนคลายให้เปิดผับ​ บาร์​ เร็วขึ้นจะเป็นไปได้หรือไม่​ ศ.นพ.อุดม​ กล่าวว่า ครั้งที่แล้วเราก็ลงมติไปแล้วว่าให้เปิดวันที่ 16 ม.ค.65 ไม่ใช่ไม่ให้เปิด ตอนนี้ผู้ประกอบการต้องไปเตรียมการให้พร้อม สิ่งที่เรากังวลคือเรื่องถ่ายเทอากาศ เพราะถึงอย่างไรเรารู้ว่าจำกัดคนไม่ได้ เมื่อดื่มแอลกอฮอล์ก็พูดคุยเสียงดัง มีน้ำลายและละอองต่างๆ เอาเชื้อออกมา และที่สำคัญนั่งกันนาน ปัจจัยนี้คือปัจจัยเสี่ยง เรามีตัวอย่างคลัสเตอร์ใหญ่ๆ ในสถานบันเทิงมาแล้ว ดังนั้น​ อย่าให้มันมาเกิดอีก จึงขอให้เตรียมตัวให้ดี คุณต้องช่วยประเทศด้วย เพราะหากมีการระบาดใหม่จากตรงนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ เราก็เข้าใจเขามีความเดือดร้อน รัฐบาลคงต้องเข้าไปเยียวยา แต่หากมาเปิดก่อนกลัวว่าปีใหม่จะไม่ได้ฉลอง

เมื่อถามว่า​ สรรพกำลังของสาธารณสุขเพียงพอหรือไม่​ หากมีการระบาดใหม่​ ศ.นพ.อุดม​ กล่าวว่า เรามีบทเรียน คิดว่ารองรับได้แน่นอน แต่ทำไมต้องไปเหนื่อยอีก หากตัวเลขไม่เกิน 5​ พันราย แม้ถือว่าเยอะ แต่ไม่เหนื่อยมาก แต่หากไปถึง 7​ พันราย​ถึง​ 1​ หมื่นราย เราเหนื่อยมาก ถ้าไปถึง 2​ หมื่นรายเตียงไม่พอแน่นอน ภาพการเข้าถึงเตียงยาก เสียชีวิตที่บ้าน เราไม่อยากให้เกิดภาพเช่นนั้น จึงอยากให้ประชาชนดูแลตัวเอง เพราะการดูแลตัวเองเหมือนการดูแลสังคมและประเทศ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ต่อไปจนถึงกลางปีหน้า เราต้องอยู่กับโควิค-19​ แต่อยากให้ได้วันละ 1-2 พันราย เสียชีวิตไม่เกิน 20 ราย แบบนี้ไม่เหนื่อย​ รับได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอยง' ชี้ 'โควิด' ระบาดหนัก แต่รุนแรงลดลง เข้าใกล้ไข้หวัดใหญ่

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19

‘เศรษฐา’ ลาป่วยติดโควิด กลับมาปฎิบัติงานวันที่ 19 มิ.ย.นี้

นายกรัฐมนตรี ได้พบแพทย์ หลังจากมีอาการป่วย อ่อนเพลียเล็กน้อย ตั้งแต่วันศุกร์ ที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา ผลการตรวจพบว่าติดโควิด

ทุบสถิติปีนี้! ไทยติดโควิดใหม่รายสัปดาห์ทะลุ 2.7 พันคน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 2 - 8 มิถุนายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล