'นพ.ธีระ' ชี้เป็นความท้าทายในการอยู่กับโควิด19 ซึ่งย่างเข้าสู่ปีที่ 4

'หมอธีระ' ชี้เป็นความท้าทายของโควิด-19 ที่ย่างเข้าสู่ปีที่ 4 ว่าเราจะอยู่กันอย่างไร ย้ำใช้ชีวิตประจำวันโดยใส่ใจเรื่องสุขภาพ ในขณะที่ด้านวิทยาศาสตร์ก็ต้องเร่งศึกษาวิจัย

16 ก.พ.2566 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด19 ประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 105,448 คน ตายเพิ่ม 611 คน รวมแล้วติดไป 677,995,525 คน เสียชีวิตรวม 6,784,958 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 89.72 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 76.92

...ความท้าทายของโรคโควิด-19 ย่างเข้าสู่ปีที่ 4 ที่เรารู้จักกับ SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 แม้จะมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์มากขึ้น จนตรวจสอบได้ว่าไวรัสนี้มีการกลายพันธุ์ แตกหน่อต่อยอด เปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปอย่างไร จนส่งผลให้เกิดการระบาดทั่วโลก ระลอกแล้วระลอกเล่า แต่ยังคงมีคำถามที่ต้องการการศึกษาวิจัยอีกมาก เพื่อที่จะทำให้มนุษย์เราเข้าใจ และหาวิธีที่จะทำให้อยู่รอดปลอดภัย ลดความสูญเสียในระยะยาว

ยกตัวอย่างเช่น แม้ไวรัสนี้จะอยู่ในตระกูล Coronavirus เหมือน SARS และ MERS รวมถึงไวรัสโคโรน่าอื่นที่ทำให้เกิดไข้หวัด เช่น HCov-NL63 แต่ลักษณะการติดเชื้อของโควิด-19 นั้นทำให้เกิดการติดเชื้อในเซลล์ปอด ซึ่งเป็นทางเดินหายใจส่วนล่างได้มากกว่าไวรัสอื่นในตระกูลเดียวกัน ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ตอนนี้ก็ยังตอบได้ไม่กระจ่างชัดนัก ถึงแม้จะมีสมมติฐานเรื่องกลไกการเข้าสู่เซลล์ที่อาจแตกต่างกัน

เรื่องสำคัญที่สุดอีกเรื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อการอยู่ร่วมกับไวรัสโควิด-19 ในระยะยาวคือ การคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของไวรัสว่าจะมีการปรับเปลี่ยน กลายพันธุ์ไปทางไหน และ/หรือสมรรถนะของไวรัสว่าจะระบาดรุนแรงขึ้น มีโอกาสทำให้ป่วยมากขึ้น ตายมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความผิดปกติระยะยาว ทุพพลภาพมากขึ้นหรือน้อยลง และจะมีช่วงเวลาเกิดขึ้นถี่บ่อยเพียงใด จนถึงปัจจุบัน ยังไม่สามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงข้างต้นได้อย่างแม่นยำ ทำให้ยากลำบากในการวางแผนจัดการควบคุม รวมถึงพัฒนาอาวุธอย่างวัคซีนเพื่อดักไว้ล่วงหน้าเหมือนโรคอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม แนวทางปฏิบัติตัว อย่างที่เน้นย้ำให้เราทราบทุกวัน ได้แก่ การใช้ชีวิตประจำวันโดยมีความใส่ใจเรื่องสุขภาพ (health conciousness) มีสติ รู้ว่าที่ทำอยู่นั้นเสี่ยงหรือไม่ พยายามทำหรือปรับการใช้ชีวิตประจำวันให้ลดความเสี่ยงลงไปกว่าในอดีต หากปฏิบัติอย่างเป็นกิจวัตร ก็จะช่วยให้ทั้งตัวเราและคนรอบข้างมีโอกาสอยู่รอดปลอดภัยไปได้มากในระยะยาว

ช่วยกันปรับปรุงที่อยู่ ที่ทำงาน ที่เรียน ที่กิน ที่เที่ยว ให้มีการระบายอากาศดีกว่าเดิม ไม่สบาย ก็ควรแยกไปรักษาตัวให้หายดีเสียก่อน ถือเป็นการใช้ชีวิตอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ทู่ซี้คิดว่าไม่เป็นไรจนอาจนำไปสู่การเจ็บป่วยและสูญเสียของคนรอบข้าง ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องระหว่างตะลอนนอกบ้าน จะลดเสี่ยงต่อโควิด-19 และ PM2.5 ลงไปได้มาก

อ้างอิง
Perlman S et al. Coronavirus research: knowledge gaps and research priorities. Nature Reviews Microbiology. 15 February 2023.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอยง' แจงยิบ อาการติดเชื้อโรค 'ฝีดาษวานร'

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ฝีดาษวานร MPOX ลักษณะอาการของโรค

'หมอยง' เตือนรับมือ 'ฝีดาษลิง' สายพันธุ์ใหม่ รุนแรงติดง่าย หวั่นระบาดใหญ่ทั่วโลก

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ฝีดาษวานร MPOX สายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง

ศูนย์ไวรัส จุฬาฯ จับตาโรค 'โอโรพุช' ระบาดในลาตินอเมริกา อาการคล้ายไข้เลือดออก

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า