'นพ.ธีระ' ยกผลวิจัยมะกันชี้ติดโควิดเสี่ยงเบาหวานสูง!

'หมอธีระ' อัพเดตความรู้สถานการณ์โควิด อึ้ง! ผลวิจัยมะกันตอกย้ำผู้ติดโควิดเสี่ยงสูงในการเป็นเบาหวาน ส่วนผลวิจัยเมืองผู้ดีชี้ชัดโอมิครอนแพร่เชื้อต่อได้มากที่สุด

15 ก.พ.2566 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด19 ประจำวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 102,211 คน ตายเพิ่ม 440 คน รวมแล้วติดไป 677,840,535 คน เสียชีวิตรวม 6,783,945 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 92.97 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 80.22

...อัพเดตความรู้โควิด-19
1. "ติดเชื้อโควิด-19 เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน"
Kwan AC และคณะ จากประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการวิจัยในวารสารการแพทย์ JAMA Network Open ในวันแห่งความรัก ศึกษาในกลุ่มประชากรจำนวน 23,709 คน ตั้งแต่มีนาคม 2563 ถึงมิถุนายน 2565 พบว่า หลังจากติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นจะทำให้เสี่ยงที่จะตรวจพบโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญราว 2.35 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 1.94-2.89 เท่า)

และแม้จะเปรียบเทียบอัตราการตรวจพบโรคเบาหวานกับโรคอื่นๆ เช่น ทางเดินปัสสาวะอักเสบ กรดไหลย้อน ก็ยังพบว่า ความเสี่ยงที่จะตรวจพบโรคเบาหวานหลังติดเชื้อโควิด-19 นั้นก็ยังคงสูงกว่าการตรวจพบโรคอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญถึง 1.58 เท่า

ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่มีการทบทวนอย่างเป็นระบบและวิเคราะห์อภิมาน
แต่ที่น่าสนใจคือ การศึกษานี้ยังชี้ให้เห็นว่า ความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานนั้นสูงขึ้นชัดเจน แม้ว่าจะเป็นยุคที่สายพันธุ์ Omicron ระบาดก็ตาม

นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญอีกเรื่องที่ค้นพบคือ คนที่ติดเชื้อแต่ได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน จะมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ดังนั้น ข้อสรุปที่เราควรนำใช้ในการดำเนินชีวิตคือ หนึ่ง ควรป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อซ้ำ ย่อมดีที่สุด สอง ควรไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบถ้วนตามกำหนด หากเกิดจับพลัดจับผลูติดเชื้อขึ้นมา อย่างน้อยวัคซีนก็จะช่วยลดเสี่ยงป่วยรุนแรง ลดเสี่ยงเสียชีวิต และลดความเสี่ยงต่อ Long COVID รวมถึงการเกิดโรคเบาหวานให้น้อยลงไปบ้าง ดีกว่าการไม่ฉีดวัคซีน

2. ลักษณะของสายพันธุ์ไวรัสกับการระบาดในประเทศอังกฤษ
Perez-Guzman PN และคณะ จากประเทศอังกฤษ ได้เผยแพร่ผลการศึกษาทบทวนลักษณะการระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดช่วงที่ผ่านมาหลายปีจนถึงยุค Omicron

สาระสำคัญคือ แต่ละสายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 นั้นมีสมรรถนะในการแพร่ระบาดแตกต่างกันไป ทั้งนี้สายพันธุ์ Omicron (BA.1) นั้น มีสมรรถนะในการแพร่เชื้อจากคนที่ติดเชื้อไปยังคนอื่นๆ ได้สูงสุด โดยเฉลี่ยแล้ว คนติดเชื้อคนหนึ่งจะแพร่ไปให้คนอื่นๆ ได้ 8.1 คน (ค่า R0: Basic reproduction number)

ในขณะที่ สายพันธุ์ดั้งเดิมนั้นมีค่า R0 ประมาณ 2.5, สายพันธุ์อัลฟา 4.0, และสายพันธุ์เดลตา 6.7 เราจึงไม่แปลกใจว่า การระบาดของ Omicron นั้นจึงทำให้คนทั่วโลกมีการติดเชื้อกันมากมายมหาศาลจนถึงปัจจุบัน

ป.ล.ใครอยากเห็นลักษณะสายพันธุกรรมของไวรัสโรคโควิด-19 เต็มๆ (29,903 nucleotides) ลองเข้าไปดูได้ที่เว็บในรูปที่ 4 ...ควรใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวสม่ำเสมอ ช่วยกันปรับปรุงการระบายอากาศให้ดีขึ้นกว่าในอดีต การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงทั้งต่อโควิด-19 และ PM2.5 ด้วย

อ้างอิง
1. Kwan AC et al. Association of COVID-19 Vaccination With Risk for Incident Diabetes After COVID-19 Infection. JAMA Network Open. 14 February 2023.
2. Perez-Guzman PN et al. Epidemiological drivers of transmissibility and severity of SARS-CoV-2 in England. medRxiv. 12 February 2023.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอาแน่ 'คมนาคม' เร่งศึกษาค่าธรรมเนียมรถติด

“คมนาคม” เดินเครื่องศึกษามาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เปิดโมเดล 4 ประเทศ “อังกฤษ-สิงคโปร์-สวีเดน-อิตาลี” พบช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดอย่างเป็นรูปธรรม ด้าน สนข. เร่งศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ ชี้ช่วยดึงดูดประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น เชื่อมระบบฟีดเดอร์-ขนส่งหลัก หนุนนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

จับตา ‘อุ๊งอิ๊ง’! โชว์วิสัยทัศน์ เวทีผู้นำเอเปก

จับตา "นายกฯ อิ๊งค์" โกอินเตอร์! บินลัดฟ้าสหรัฐ ไม่ได้พบตัวแทนทำเนียบขาว แต่ไปเจอทีมไทยแลนด์ มอบนโยบายขับเคลื่อนความร่วมมือในภูมิภาคอเมริกา