'หมอธีระ' อัปเดตโควิด-19 บอกในจีนน่าจะมีคนติดเชื้อแล้ว 181 ล้านคน! ผลวิจัยเมืองผู้ดีแนะผู้ฉีดวัคซีนเชื้อตายควรกระตุ้นด้วย mRNA
08 ก.พ.2566 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด19 ประจำวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 113,289 คน ตายเพิ่ม 495 คน รวมแล้วติดไป 676,527,532 คน เสียชีวิตรวม 6,774,147 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 18 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 93.28 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 75.35
...คาดประมาณการระบาดในจีน
Airfinity ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ทำด้าน health analytics ในสหราชอาณาจักร ได้ทำการเผยแพร่ข้อมูลคาดประมาณสถานการณ์ระบาดในจีน เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน น่าจะมีจำนวนคนที่ติดเชื้อสะสมราว 181 ล้านคน และเสียชีวิตสะสมราว 1.3 ล้านคน ในขณะที่หากดูข้อมูลรายงานทางการจากเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก จะมีรายงานจำนวนติดเชื้อไปราว 98,677,876 คน และเสียชีวิตไป 117,634 คน
...คนฉีดวัคซีนเชื้อตาย ควรกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิด mRNA
Zuo F และคณะ จาก Karolinska Institute เผยแพร่ผลการวิจัย ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า การฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตาย ไม่ว่าจะ 2 เข็ม หรือ 3 เข็มนั้น ไม่เพียงพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ย่อยใหม่ๆ ทั้ง BF.7, BQ.1.1, และ XBB.1 โดยระดับภูมิที่เกิดขึ้นนั้นด้อยกว่าการได้รับวัคซีนชนิด mRNA ตั้งแต่ต้น
ทั้งนี้คนที่เคยได้รับวัคซีนเชื้อตายมาก่อน ควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย mRNA vaccine ซึ่งจะทำให้กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น ถือเป็นการศึกษาอีกชิ้นที่ยืนยันว่า ประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนแต่ละชนิดนั้นมีความแตกต่างกัน
...Omicron เทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้
ทีมวิจัยจากสวีเดน เผยแพร่ใน medRxiv เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเปรียบเทียบลักษณะการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ในกลุ่มประชากรอายุน้อยกว่า 65 ปี ที่ไม่มีโรคประจำตัว และไม่ได้ฉีดวัคซีน พบว่า การติดเชื้อในยุค Omicron นั้น มีอัตราการป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิต น้อยกว่ายุคก่อนหน้าที่จะมีสายพันธุ์ที่น่ากังวล
อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของการป่วยรุนแรงในกลุ่มผู้ที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนั้นพอๆ กับยุคก่อนหน้าที่จะมีสายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC) ผลการศึกษานี้ สะท้อนให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ
...ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ระมัดระวังพฤติกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง ระบายอากาศให้ดี ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงทั้งต่อโควิด-19 และ PM2.5
อ้างอิง
1. Airfinity’s COVID-19 forecast for China infections and deaths. Airfinity. 7 February 2023.
2. Zuo F et al. Heterologous inactivated virus/mRNA vaccination response to BF.7, BQ.1.1, and XBB.1. medRxiv. 7 February 2023.
3. Wahlstrom E et al. Disease severity of unvaccinated SARS-CoV-2 positive adults less than 65 years old without comorbidity, in the Omicron period and pre-Omicron periods. medRxiv. 6 February 2023.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดพิกัดเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนในจุฬาฯ
ปีนี้งาน Night Museum at Chula เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดภายใต้แนวคิด “เสน่ห์ Science” ชูเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัวเรา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและเป็นแรงขับเคลื่อนทุกย่างก้าวของคนในปัจจุบัน
ย้อนดู 5 ปี 'โควิด 19' ความสับสนของข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬา โพสต์เฟซบุ๊กว่า
‘พิพัฒน์’ห่วงแรงงานไทย นำคณะ ถก ! ระบบบำนาญสวีเดน สร้างมาตรฐาน พัฒนาบริการผู้ประกันตน รองรับสังคมสูงอายุ
มื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นางมารศรี ใจรังษี ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม คณะกรรมการประกันสังคม และที่ปรึกษา (ชุดที่ 14) รวมถึงผู้บริหาร