'นพ.ยง' เตือนให้เกาะติดโควิดสายพันธุ์ 'คราเคน-ออร์ธรัส'

'หมอยง' แนะจับตาโควิดสายพันธุ์ 'คราเคน-ออร์ธรัส' ชี้อันตรายหลบหนีระบบภูมิต้านทานที่มีอยู่ และทำให้ติดเชื้อซ้ำได้!

08 ก.พ.2566 - ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต และหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “โควิด 19 สายพันธุ์ที่ต้องติดตาม คราเคน (Kraken) และ ออร์ธรัส (Orthrus)” ระบุว่า เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด มีการกลายพันธุ์มาตลอด เพื่อหลบหลีกระบบภูมิต้านทานของร่างกาย จึง ทำให้เป็นแล้วเป็นอีกได้ แต่ความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้น

สายพันธุ์ที่เฝ้าจับตามองและถือว่าเป็นสายพันธุ์อันตราย เพราะหลบหลีกระบบภูมิต้านทานได้เป็นอย่างดี คือสายพันธุ์ที่มีการเรียกกันว่า คราเคน และ ออร์ธรัส

คราเคน คือสายพันธุ์ XBB.1.5 ที่พบมากในอเมริกาและยุโรปขณะนี้บอกหลีกภูมิต้านทานได้ดี และมีโอกาสที่จะเป็นสายพันธุ์หลักต่อไปได้ มีการตั้งชื่อว่า คราเคน (Kraken) เป็นชื่อของสัตว์ทะเลประหลาด ในตำนาน นิยาย ที่มีการเล่ากันมา ในยุโรปกว่า 300 ปีมาแล้ว ลักษณะเหมือนปลาหมึกยักษ์ คอยจมเรือ การเรียก สายพันธุ์โควิดนี้ ทำให้มองดูเข้าใจได้ว่าสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์อันตรายที่ต้องติดตาม

ออร์ธรัส (Orthrus) คือสัตว์ในเทพนิยายของกรีก เป็นสุนัข 2 หัว มีหางเป็นงู ลองจินตนาการดูถึงความน่ากลัวและอันตราย โควิด ออร์ธรัส คือสายพันธุ์ CH.1.1 เป็นสายพันธุ์ ที่มีแนวโน้มจะพบเพิ่มขึ้นและพบว่าหลบหลีกภูมิต้านทานที่เกิดจากการติดเชื้อและวัคซีนในอดีต ในอเมริกาเอง ก็พบสายพันธุ์นี้แต่ยังน้อยกว่าคราเคน

ทั้ง 2 สายพันธุ์ก็ยังจัดอยู่ในโอมิครอน ถ้าดูตามรูปจะอยู่ในลูกหลาน ของ BA.2 (https://doi.org/10.1101/2023.01.16.524244)

สายพันธุ์ทั้งสองพบได้ มีรายงานในธนาคารพันธุกรรมของโควิด GISAID ดังแสดงในรูป มีแนวโน้มพบเพิ่มขึ้น สำหรับประเทศไทยแล้ว แต่ยังไม่ได้ระบาดอย่างกว้างขวางในประเทศไทย โดยพบว่ามีการนำมาจากต่างประเทศ จากการศึกษางานวิจัยของศูนย์ฯ ที่ผมทำอยู่ ในเดือนธันวาคม ถึง มกราคมจำนวนมากกว่า 250 สายพันธุ์ พบว่า 75-88 เปอร์เซ็นต์ เป็นสายพันธุ์ BA.2.75 พบสายพันธุ์ คราเคน 1 ราย ออร์ธรัส 4 ราย ดังแสดงในรูป เราคงต้องเฝ้าระวังติดตาม จากข้อมูลที่มีอยู่นี้ความรุนแรงของโรคยังไม่ได้เพิ่มขึ้น อันตรายของสายพันธุ์นี้คือ หลบหนี ระบบภูมิต้านทานที่เรามีอยู่ และจะทำให้ติดเชื้อซ้ำได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดพิกัดเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนในจุฬาฯ

ปีนี้งาน Night Museum at Chula เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดภายใต้แนวคิด “เสน่ห์ Science”  ชูเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัวเรา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและเป็นแรงขับเคลื่อนทุกย่างก้าวของคนในปัจจุบัน