เปิด 10 อันดับจังหวัดติดเชื้อรายใหม่ ห่วง 'เชียงใหม่' แนวโน้มสูงต่อเนื่อง

24 พ.ย.2564 - ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,857 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 5,618 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 5,349 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 269 ราย จากเรือนจำ 228 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 11 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 7,318 ราย อยู่ระหว่างรักษา 81,577 ราย อาการหนัก 1,529 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 358 ราย

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น55 ราย เป็นชาย 33 ราย หญิง 22 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 40 ราย มีโรคเรื้อรัง 14 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดในกทม.13 ราย ในจำนวนผู้เสียชีวิตมีผู้ไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว 41 ราย มีผู้ป่วยติดเตียง 4 ราย ซึ่งอัตราการเสียชีวิตลดลงเหลือ 0.99% โดยยอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,081,92 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,979,871 ราย และยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 20,544 ราย

พญ.สุมนี กล่าวว่า สำหรับ 10 อันดับจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด กทม. 734 ราย สงขลา426 ราย นครศรีธรรมราช 290 ราย เชียงใหม่ 245 ราย สุราษฎร์ธานี 237 ราย สมุทรปราการ 235 ราย ชลบุรี 205 ราย ปัตตานี 177 ราย ยะลา 140 ราย ตรัง 129 ราย

โดยกราฟแสดงการติดเชื้อเป็นรูประฆังคว่ำ ในส่วนกทม.คิดเป็นภาพรวมของประเทศ 13% ปริมณฑล 8% ยังมีจังหวัดที่ต้องเฝ้าติดตามใกล้ชิด 13 จังหวัด แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1 ติดเชื้อมากกว่า 100 คนต่อวัน และตรวจ ATK มากกว่า 5% ประกอบด้วย สงขลา ตรัง สุราษฎรธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช กลุ่มที่ 2 ติดเชื้อมากกว่า 100 คนต่อวัน แต่ตรวจ ATK น้อยกว่า 5% ประกอบด้วย ขอนแก่น สระแก้ว นครราชสีมาและกลุ่มที่ 3 ติดเชื้อ 80-100 คนต่อวัน ประกอบด้วย สระบุรี อุบลราชธานี อุดรธานี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์

นอกจากนี้ยังมีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อแบบมีแนวโน้มสูงขึ้น 5 จังหวัด คือติดเชื้อมากกว่า 100 คนต่อวัน คือจังหวัดเชียงใหม่ และติดเชื้อน้อยกว่า 100 คนต่อวัน คือ เชียงราย ลำพูนพิษณุโลก สิงห์บุรี อย่างไรก็ตามในวันนี้มี 2 จังหวัดไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ คือ แพร่ และอำนาจเจริญ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เชียงใหม่' พบผู้ป่วยอาการลองโควิดเพิ่มสูงขึ้น ส่วนใหญ่อ่อนเพลีย หายใจลำบาก ไอ

นายแพทย์กิตติพันธุ์ ฉลอม ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เป็นสถานการณ์หลังการระบาดใหญ่ หรือ Post-Pandemic ซึ่งยังคงพบการระบาดกระจายในชุมชนอยู่บ้าง ตามความหนาแน่นของประชากรในแต่ละพื้นที่