คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีไขข้อข้องใจทำไม WHO ยังเตือนเรื่องโควิด19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เหตุมาจากการกลายพันธุ์จำนวนมาก แต่ยังดีวัคซีนทั้งแบบฉีดและกินเอาอยู่
01 ก.พ.2566 - เพจศูนย์จีโนมทางการแพทย์ Center for Medical Genomics คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์เฟซบุ๊กพร้อมรูประบุว่าทำไมองค์การอนามัยโลกยังจัดให้โควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศต่อไปในปี 2566 อีกระยะหนึ่ง?
องค์การอนามัยโลกแถลงเมื่อวันจันทร์ (30 ม.ค. 2566) ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก (Pandemic) ยังคงถือว่าอยู่ใน“ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (global public health emergency)” ต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่ก็มีสัญญาณที่ดีอย่างต่อเนื่องเชื่อได้ว่าสามารถยกเลิกมาตรการดังกล่าวได้ในภายในปี 2566 เพื่อปรับเข้าสู่ภาวะของโรคประจำถิ่นได้ (Endemic) โดยจะมีการพิจารณายกเลิกมาตรการดังกล่าวอีกครั้งใน 3 เดือนข้างหน้า (ภาพ1)
ในขณะที่ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาตั้งเป้าที่จะยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับโควิด-19 ภายในประเทศที่กำลังดำเนินอยู่ให้สิ้นสุดลงในวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 โดยลดระดับการแพร่ระบาดในฐานะวิกฤตระดับชาติ ปรับเป็นการบริหารจัดการไวรัสโควิด-19 เหมือนโรคทางเดินหายใจตามฤดูกาลแทน
สาเหตุสำคัญที่องค์การอนามัยโลกต้องขยายเวลาให้การระบาดของโควิด-19 ยังอยู่ในภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศต่อไปอีกระยะหนึ่งเพราะยังมีรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากกว่า 170,000 คน ในช่วง 8 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในประเทศจีน ซึ่งคาดว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริงจากโควิดทั่วโลกมากกว่านี้หลายเท่าตัว เพราะปัจจุบันหลายประเทศได้ลดการตรวจ PCR และการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโควิด-19 เปลี่ยนมาเป็นการตรวจกรองการติดเชื้อโควิดด้วยตนเองด้วย ATK ทำให้องค์การอนามัยโลกขาดข้อมูลสำคัญที่จะระบุถึงจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ได้อย่างถูกต้อง
อีกทั้งโควิดยังมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง สายพันธุ์ย่อยหลายสายพันธุ์ได้ระบาดเพิ่มจำนวนกลายเป็นสายพันธุ์หลักในหลายประเทศ เช่น
1. ประเทศจีน สายพันธุ์หลักคือ BA.5.2 สายพันธุ์รองคือ BF.7
2. ประเทศสหรัฐอเมริกา สายพันธุ์หลักคือ XBB.1.5 สายพันธุ์รองคือ BQ.1.1
3. ประเทศไทย สายพันธุ์หลักคือ BN.1.3
4. ประเทศกัมพูชา สายพันธุ์หลักคือ BN.1.2
5. ประเทศสิงคโปร์ สายพันธุ์หลักคือ XBB.1
6. ประเทศฟิลิปปินส์ สายพันธุ์หลักคือ BA.2.3.20
7. ประเทศญี่ปุ่น สายพันธุ์หลักคือ BF.5
8. ประเทศรัสเซีย สายพันธุ์หลักคือ CL.1
9. ประเทศนิวซีแลนด์ สายพันธุ์หลักคือ CH.1.1
10. ประเทศออสเตรเลีย สายพันธุ์หลักคือ XBF
โดยแต่ละสายพันธุ์มีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่แตกต่างกัน มีความต้านทานต่อยาแอนติบอดีสร้างภูมิสำเร็จรูปไม่เหมือนกัน แต่เป็นที่น่ายินดีที่ยังไม่พบว่าโควิดสายพันธุ์ไหนดื้อต่อยาต้านไวรัสเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ซึ่งเป็นยาฉีด ยาต้านไวรัสโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) และแพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) ซึ่งเป็นยาเม็ด แต่ต้องบริหารจัดการใช้ยาต้านโควิดอย่างระมัดระวังมิให้เกิดการดื้อยาเหมือนไวรัสเอชไอวีในอดีต
ดังนั้นการเฝ้าติดตามโควิด-19 ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม (Genomic Surveillance) ทั้งจากผู้ติดเชื้อและจากแหล่งน้ำเสียใกล้ชุมชนจะช่วยบ่งชี้ล่วงหน้าว่าไวรัสโควิด-19 กำลังลดความรุนแรงในการแพร่ระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) กลายมาเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ด้วยการชะลอตัวของการกลายพันธุ์บนจีโนมและลดจำนวนสายพันธุ์ย่อยที่อุบัติขึ้นมาใหม่ลงอย่างมีนัยสำคัญ
องค์การอนามัยโลกคาดหวังว่าภายในปีนี้ โลกจะเปลี่ยนไปสู่ระยะใหม่ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงต่ำสุด และระบบสุขภาพของแต่ละประเทศสามารถรองรับการระบาดของโควิด-19 ได้เข้าสู่ภาวะโลกประจำถิ่นด้วยการบูรณาการที่ยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์จีโนมฯถอดบทเรียนปี 2567 ระบุโรคอุบัติใหม่ระบาดเกิดแน่แต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ศูนย์สนับสนุนพันธกิจ
รัฐบาลเตือนเช็กอาการ 6 โรคหลังไปเที่ยวปีใหม่
รองโฆษกรัฐบาลขอ ปชช.เดินทางท่องเที่ยว ปลอดภัย ไร้โรค ไร้ภัย แนะหมั่นสังเกตอาการ หลังเดินทางกลับ หากมีอาการผิดปกติ รีบพบแพทย์
โควิดรายสัปดาห์ ป่วยนอนโรงพยาบาล 557 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 1 - 7 ธันวาคม 2567 ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์)
'หมอยง' ช้ำถูกวิกิพีเดียใส่ข้อมูลเท็จซ้ำเข้าไปแก้ไขไม่ได้
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา
‘หมอยง’ สะท้อนความรู้สึกโควิด-19 ปีที่ 2 'ยุ่งเหยิง-ดราม่าวัคซีน-เซียนคีย์บอร์ด'
หลังการระบาดใหญ่ทั่วโลก ในปีแรก ทุกคนมุ่งหวัง ที่จะยุติการระบาดด้วยวัคซีน จึงมีการผลิตคิดค้นวัคซีนกันมากมาย มากกว่า 10 platform