หมอจุฬาฯ เผยไทยกำลังศึกษาวัคซีนเข็มกระตุ้น อาจใช้ขนาดโดสที่ลดลงใน เข็ม 3 เข็ม 4

23 พ.ย.64 สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) ร่วมกับองค์การอนามัยโลก จัดเสวนาออนไลน์เปิดข้อมูล (ไม่) ลับ กับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ตอน ร่วมเปิดใจ พร้อมไขทุกข้อสงสัย “วัคซีนโควิด 19 กับก้าวต่อไปของคนไทย” โดยนพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ รองผู้อำนวยการสถาบัน กลุ่มแผนปฏิบัติการชาติฯ สถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า สถานการณ์โควิด19 ในไทย จากข้อมูลสัดส่วนสายพันธุ์ที่มีการเฝ้าระวัง ตั้งแต่ในวันที่ 6-12 พ.ย.64 พบสายพันธุ์เดลต้าระบาดครอบคลุมในประเทศถึง 99.74% ส่วนสายพันธุ์เบต้าที่หลายคนกังวล ขณะนี้พบการระบาดเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี สงขลา ยะลา

“สำหรับวัคซีนจากผลวิจัยเบื้องต้นของทางศิริราชฯ ในการศึกษาความปลอดภัยและการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในคนไทยของวัคซีนซิโนแวคพบว่าเมื่อฉีด 2 เข็มภูมิคุ้มกันขึ้นสูง แต่ไม่เท่ากับการฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม ที่ภูมิจะขึ้นสูงกว่า ส่วนผลวิจัยการฉีดสูตรไขว้ ที่ใช้กันจำนวนมากอย่าง ซิโนแวคไขว้แอสตร้าฯ พบว่าภูมิขึ้นสูงกว่าฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม ขณะเดียวกันการฉีดด้วยแอสตร้าฯไขว้ซิโนแวคภูมิจะขึ้นค่อนข้างน้อย ดังนั้นทางสธ. จึงไม่นำสูตรนี้มาใช้ ส่วนการฉีดแอสตร้าฯไขว้ไฟเซอร์ พบภูมิคุ้มกันขึ้นไปสูงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ยังพบว่าฉีดซิโนแวคไขว้ไฟเซอร์ภูมิก็ขึ้นใกล้เคียงเช่นกัน ดังนั้นข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นแนวทางในการให้วัคซีนในประเทศไทย 4 แนวทางคือซิโนแวคไขว้แอสตร้าฯ, แอสตร้าฯไขว้ไฟเซอร์, แอสตร้าฯ 2 เข็ม และไฟเซอร์ 2 เข็ม” นพ.วีรวัฒน์ กล่าว

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวอีกว่า เมื่อดูจากข้อมูลวันที่ 1 เม.ย.-4พ.ย. 64 ในจำนวนผู้เสียชีวิตประมาณ 19,413 คน พบว่าผู้เสียชีวิตจากโควิด19 อยู่ที่ช่วงอายุประมาณ 67 ปี หรือในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่ง 16% ไม่ได้รับวัคซีน ส่วนกลุ่มที่มีโรคประจำตัวพบเสียชีวิตประมาณ 16,795 คน อาทิ โรคความดัน โรคหัวใจ เป็นต้น พบไม่ได้รับวัคซีนถึง 79% ไม่มีโรคประจำตัว 1,627 คน อีกกลุ่มคือหญิงตั้งครรภ์ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 68 คน พบไม่ได้รับวัคซีน 1.6% ได้รับเพียง 3.2% ซึ่ง 3 กลุ่มเสี่ยงดังกล่าวจึงมีความจำเป็นในการฉีดวัคซีน

อย่างไรก็ตาม มีคนไทยที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอีกกว่า 10 ล้านคน โดยได้รับวัคซีนทั้งหมดอยู่ที่ 80.4 ล้านโดส ส่วนที่ได้รับวัคซีนเข็มที่1 พบว่าในจังหวัดภูเก็ต กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ครอบคลุมกว่า 80% รองลงมาคือ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ครอบคลุมกว่า 70% ส่วนเข็มที่ 2 ภาพรวมทั้งประเทศอยู่ที่ 58.32% มีเพียงจังหวัดภูเก็ตและกรุงเทพฯ ที่ได้รับวัคซีนครอบคลุมกว่า 80% ขณะที่เข็มที่ 3 ภาพรวมทั้งประเทศได้รับวัคซีนอยู่ที่ 4.5% ดังนั้นแผนการฉีดวัคซีนในเดือนธ.ค.64 สำหรับเป้าหมายใหม่คือ ประชากรต้องได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ในเดือนพ.ย. อย่างน้อย 70% และเดือนธ.ค. อย่างน้อย 80% ส่วนเข็มที่ 2 ในเดือนธ.ค. ต้องฉีดให้ได้อย่างน้อย 70%

หลายคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน อาจจะกังวลเรื่องผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า วัคซีนซิโนแวคที่มีการฉีดไปกว่า 25 ล้านโดส สัดส่วนการฉีด 7.47 ต่อแสนโดส พบแพ้รุนแรง 37 คน เช่น มีผื่น ภาวะช็อค เป็นต้น เสียชีวิต 1 คน ส่วนวัคซีนแอสตร้าฯ มีอัตราการฉีดอยู่ที่ 35 ล้านโดส พบสัดส่วนแพ้ 6.60 ต่อแสนโดส แพ้รุนแรง 11 คน มีภาวะ VITT 4 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 2 คน วัคซีนซิโนฟาร์ม มีการฉีดไปกว่า 12.9 ล้านโดส จากสัดส่วนการฉีด 3.43 ต่อแสนโดส พบแพ้รุนแรงเพียง 1 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต และไฟเซอร์ ที่ฉีดไปกว่า 7.19 ล้านโดส โดยสัดส่วน 4.63 ต่อแสนโดส พบแพ้รุนแรง 1 คน มีภาวะ Probable Myocarditis/Pericarditis 8 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต จึงสรุปได้ว่าจากการได้รับรายงานผู้เสียชีวิตหลังได้รับวัคซีนจำนวน 1,436 คน พบเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนเพียง 4 คน ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่กลุ่มเสี่ยง 608 ควรเข้ารับวัคซีนเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและความรุนแรงของโรคโควิด19

ด้านศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงภูมิคุ้มกันหลังได้รับวัคซีน กล่าวว่า การได้รับวัคซีนโควิด19 หรือเคยป่วยโควิด19 จะทำให้มีภูมิคุ้มกันขึ้นมา แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปภูมิคุ้มกันก็จะลดลง อย่างในประเทศที่ประชากรได้รับวัคซีนครอบคลุมกว่าไทย ก็ยังพบการติดเชื้อซ้ำ เนื่องจากปัจจัยเช่น เชื้อกลายพันธุ์ ภูมิลดลง และยกเลิกการใส่หน้ากากอนามัย หรือผ่อนคลายมาตรการต่างๆลง

ศ.พญ.ธันยวีร์ กล่าวว่า ในการศึกษาประเทศอิสราเอล สำหรับระดับภูมิคุ้มกันในช่วง 6 เดือนหลังจากได้รับวัคซีนไฟเซอร์ พบว่าในผู้สูงอายุภูมิจะลดระดับลงไวกว่าในวัยอื่น จึงแนะนำให้มีการเข้ารับเข็มกระตุ้นใน 3-6 เดือนหลังได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับเข็มกระตุ้น สอดคล้องกับงานวิจัยจุฬาฯ ระบุว่า การฉีดวัคซีนสูตรซิโนแวค 2 เข็ม พบว่าเมื่อฉีดครบโดสหลัง 1 เดือนภูมิขึ้นดีในระดับหนึ่ง เกินเกณฑ์ 60% แต่เมื่อเป็นวัคซีนเชื้อตายควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เช่น แอสร้าฯ หรือ mRNA ส่วนสูตรแอสตร้าฯ 2 เข็ม พบว่าใน 3 เดือนภูมิเริ่มลดลง ประกอบกับการแพร่กระจายของเชื้อเดลต้า จึงมีการปรับให้มีการฉีดสูตรไขว้แทน อาทิ แอสตร้าฯไขว้ไฟเซอร์ เป็นต้น และการให้วัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ เพราะสามารถเกิดภาวะฉุกเฉินได้ทุกเมื่อ หากติดเชื้อโควิด19 การรักษาก็จะซับซ้อนกว่าคนปกติ ดังนั้นเมื่อได้รับวัคซีนภูมิคุ้มกันก็จะถูกส่งต่อไปยังทารกในครรภ์โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก

ศ.พญ.ธันยวีร์ กล่าวเสริมว่า สายพันธุ์ที่มีการระบาดในไทยมีผลต่อระดับภูมิคุ้มกัน เพราะเมื่อสายพันธุ์เปลี่ยนความสามารถในการยับยั้งเชื้อก็จะลดลง อย่าง สายพันธุ์เดลต้าลดลง 2-3 เท่า สายพันธุ์เบต้าลดลงไปถึง 6 เท่า นับว่ายังเป็นโชคดีที่การระบาดส่วนใหญ่ คือ สายพันธุ์เดลต้า และสายพันธุ์เบต้ามีคุณลักษณะในการแพร่กระจายเชื้อได้น้อย อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือ งานวิจัยของวัคซีนโมเดอร์นาที่ฉีดครบ 2 โดสในขนาด 100 ไมโครกรัม พบว่าจะกระตุ้นภูมิคุ้มกัน 50 ไมโครกรัม ได้ดีในสายพันธุ์ดั้งเดิม และในอเมริกามีการแนะนำว่าหากฉีดโมเดอร์นาครบ 2 โดส ควรให้เข็มที่ 3 เพียงครึ่งโดส ก็สามารถกระตุ้นภูมิได้ดีในเชื้อกลายพันธุ์ ซึ่งขณะนี้ไทยกำลังทำวิจัยการฉีดเข็มกระตุ้นที่ 3 ที่ 4 ในขนาดที่ลดลง ทั้งนี้การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ในไทยจะเป็นสูตรไขว้ ไม่ว่าจะเป็นแอสตร้า หรือ mRNA สามารถฉีดได้ จึงไม่จำเป็นต้องรอวัคซีนสำหรับเชื้อกลายพันธุ์ที่จะเกิดขึ้น เพราะโควิดคงจะอยู่กับเราไปอีกอย่างน้อย 1 ปี

“คำแนะนำในอเมริกาเมื่อเดือนต.ค.64 ที่ผ่านมา ระบุว่าประชาชนสามารถรับวัคซีนเข็มบูสเตอร์หรือฉีดสูตรไขว้ได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปี หรืออายุ 18 ปีขึ้นไปที่เสี่ยงหรือมีโรคประจำตัว สำหรับกลุ่มอื่นๆ แพทย์สามารถพิจารณาให้วัคซีนเข็มบูสเตอร์ได้ โดยพิจารณาหลังจากได้รับเข็มสุดท้ายไปแล้ว 6 เดือน ดังนั้นการฉีดวัคซีนโควิด อาจจะใกล้เคียงกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีการฉีดในทุกปี และเมื่อมีการระบาดโควิด ในต่างประเทศก็มีการณรงค์ให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งสามารถฉีดวัคซีนโควิดในวันเดียวกันได้ ซึ่งทางโมเดอร์นาและโนวาแวกซ์ก็เริ่มทำการศึกษาวิจัยทางคลินิกในการรวมวัคซีนไข้หวัดใหญ่และโควิดในเข็มเดียวกัน” ศ.พญ.ธันยวีร์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จุฬาฯ จับมือกรม Climate Change และเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชน เปิดตัวหลักสูตร “TOP Green” หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้าน Sustainability

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ UN Global Compact Network Thailand

จุฬาฯ “เปิดแพลตฟอร์ม ฝ่าพิบัติ: Digital War Room” นวัตกรรมเตือนพื้นที่น้ำท่วมและแนวดินถล่มจากอุทกภัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 25 เรื่อง “แพลตฟอร์มจุฬาฯ ฝ่าพิบัติ: Digital War Room” เพื่อนำเสนอนวัตกรรมจากคณาจารย์นักวิจัยจุฬาฯ

จุฬาฯ อันดับ 1 มหาวิทยาลัยไทย Top ของประเทศ 3 ด้าน จากการจัดอันดับโดย THE WUR 2025

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของไทย จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกโดย The Times Higher Education World University Rankings 2025 (THE WUR 2025) จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลกที่ได้รับการจัดอันดับกว่า 2,000 แห่ง กว่า 115 ประเทศ