หมอธีระยกตัวเลขเสียชีวิตโควิดจาก WHO ชี้ 2 เดือนที่ผ่านมาสังเวยแล้ว 170,000 คน เฉลี่ย 10,000-30,000 รายถือว่ายังน่าวิตก พร้อมแนะแนวทางตรวจการติดเชื้อด้วยตนเองล่าสุด
25 ม.ค.2566 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด 19 ประจำวันที่ 25 มกราคม 2566 ว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 146,776 คน ตายเพิ่ม 799 คน รวมแล้วติดไป 673,656,823 คน เสียชีวิตรวม 6,748,960 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 89.56 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 73.09
...อัพเดตจาก WHO เมื่อวานนี้ 24 มกราคม 2566 องค์การอนามัยโลกได้แถลงกับสื่อมวลชนว่า ในรอบสองเดือนที่ผ่านมา มีจำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากโควิด-19 ไปมากกว่า 170,000 คน เฉลี่ยแล้วมีอัตราตาย 10,000-30,000 คนต่อสัปดาห์ ถือว่าเป็นตัวเลขความสูญเสียที่สูง และเป็นเพียงตัวเลขที่ได้รับรายงาน สถานการณ์จริงในแต่ละพื้นที่อาจมีจำนวนเสียชีวิตมากกว่านี้
...ความสูญเสียจากโควิด-19 ปีแรกในฝรั่งเศส
Haneef R และคณะ จากประเทศฝรั่งเศส ได้เผยแพร่ผลการวิจัยประเมินผลกระทบโดยตรงจากโรคโควิด-19 พบว่าในปี 2563 เพียงปีเดียว ฝรั่งเศสเกิดความสูญเสียจากการป่วยและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จำนวนมาก โดยคิดเป็นจำนวนปีที่สูญเสียรวม (Disability-adjusted life years: DALYs) ถึง 990,710 ปี ในจำนวนนี้เป็นปีที่สูญเสียจากการเสียชีวิต (Years of life loss: YLL) ราว 982,531 ปี และจำนวนปีจากภาวะทุพพลภาพ (Years lived with disabilities: YLD) ราว 8,179 ปี ทั้งนี้จำนวนปีจากภาวะทุพพลภาพจะเพิ่มขึ้นถึง 375% หากจำนวนคนเหล่านั้นประสบปัญหา Long COVID นานเฉลี่ยราว 5 เดือน
...การติดเชื้อ จึงไม่ใช่เรื่องที่กระจอก ชิลๆ เป็นแล้วหาย แต่ติดแล้ว ป่วยได้ ตายได้ และเกิดความเสี่ยงต่อ Long COVID ได้ ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอระหว่างที่ใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
...แนวทางตรวจการติดเชื้อด้วยตนเองล่าสุดโดยอิงตาม US CDC/IDSA COVID-19 Clinician Calls หากมีอาการ ตรวจด้วย ATK แล้วได้ผลบวก สรุปได้ว่าติดเชื้อ และให้ทำการแยกตัวจากผู้อื่น และดูแลรักษา หากมีอาการ แต่ตรวจได้ผลลบ อย่าเพิ่งวางใจ ควรตรวจซ้ำทุก 48 ชั่วโมง อีก 1-2 ครั้ง ถ้าตรวจ ATK แล้วได้ผลลบ 3 ครั้ง ก็สรุปว่าไม่ติดเชื้อโควิด และน่าจะเป็นโรคอื่น หรือหากใครไปทำการตรวจด้วยวิธี RT-PCR แล้วได้ผลลบ ให้คิดถึงว่าเป็นโรคอื่น ไม่ใช่โควิด
อย่างไรก็ตาม หากไม่มีอาการใดๆ แต่มีพฤติกรรมเสี่ยง หรือสงสัยว่าตนเองไปรับเชื้อมาหรือสัมผัสใกล้ชิดกับคนที่ติดเชื้อมา ก็ให้ตรวจด้วย ATK อย่างน้อย 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 48 ชั่วโมง ถ้าผลลบทั้งสามครั้ง ก็สรุปว่าไม่ติดเชื้อ
อ้างอิง
1. WHO Director-General's opening remarks at the media briefing. 24 January 2023.
2. Haneef R et al. Direct impact of COVID-19 by estimating disability-adjusted life years at national level in France in 2020. PLOS One. 24 January 2023.
3. Thornburg N. Current Variant Landscape and Diagnostic Testing Algorithm. CDC/IDSA COVID-19 Clinician Calls. 23 January 2023.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอยง' เผยสถาการณ์โควิดเปลี่ยนไปมากคำแนะนำก็ต้องเปลี่ยนตาม
ศ.นพ.ยง ภู่รวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก
จุฬาฯ เดินหน้ายุทธศาสตร์ใหม่ สร้าง Siam Square ให้เป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน รวมพลคนพิการโชว์พลังครั้งใหญ่ที่สุด!
อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีม PMCU (สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ) และ มูลนิธิ Five for All เปิดงาน Siam Square Walking Street For All ครั้งแรก! บนพื้นที่ใจกลางสยามสแควร์ ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม
เปิดข้อมูล ‘ไวรัสโควิด’ สร้างได้ในห้องทดลอง มีจดสิทธิบัตรตั้งแต่ปี 2018
การสร้างไวรัสใหม่ชนิดนี้จะสามารถครอบคลุมไวรัสที่จะแพร่และเกิดโรคระบาดในมนุษย์ได้ทั้งสิ้น และสามารถที่จะสร้างวัคซีนให้มนุษย์ก่อนได้
'หมอยง' แนะแนวทางแก้ไขหลุดพ้นจากกับดักผลงานวิชาการ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก
อ.ไชยันต์ยกตัวอย่างการอภัยโทษในต่างประเทศที่น่าสนใจ!
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์