'หมอธีระ' ยกผยวิจัยเยอรมนีตอกย้ำ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นช่วยลดการนอนใน รพ.หากติดโควิด ซัดอย่าหลงเชื่อการหยุดใส่หน้ากาก ชี้ยังเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อตัวเองและคนรอบข้าง
11 ม.ค.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 11 มกราคม 2566 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 222,337 คน ตายเพิ่ม 998 คน รวมแล้วติดไป 669,213,081 คน เสียชีวิตรวม 6,717,170 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 12 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 89.07 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 69.63
...ระยะเวลาของประสิทธิภาพลดป่วยนอน รพ.ของวัคซีน
หากจำกันได้ ในช่วงเดือนตุลาคมปีก่อน มีงานวิจัยจากอเมริกา ชี้ให้เห็นว่าประสิทธิภาพของวัคซีนหลังฉีดเข็มกระตุ้นไปแล้ว น่าจะช่วยลดความเสี่ยงป่วยรุนแรงได้นานเฉลี่ยราว 7 เดือน (ยกเว้นบางกลุ่มเช่น คนอายุน้อยกว่า 50 ปี อาจคงอยู่ได้นานถึง 11 เดือน)
ล่าสุด Stoliaroff A และคณะ จากประเทศเยอรมนี ทำการเผยแพร่ผลการศึกษาแบบ case-control ใน medRxiv เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา โดยศึกษาในกลุ่มประชากรตั้งแต่ 18-90 ปี จาก 13 โรงพยาบาลใน 5 รัฐของประเทศเยอรมัน ในช่วงธันวาคม 2564 ถึงกันยายน 2565 เปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อโควิด-19 โดยดูลักษณะของการฉีดวัคซีน
สาระสำคัญพบว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นนั้นจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลได้นานกว่าการไม่ฉีดเข็มกระตุ้น และประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงนั้นจะคงอยู่ไปนาน 6-12 เดือน ทั้งนี้ผลการศึกษาจากเยอรมันนี้ก็ดูจะสอดคล้องกับงานวิจัยของอเมริกาที่ศึกษามาก่อนหน้านี้ โดยต้องเน้นย้ำให้ทราบว่า ทั้งสองงานวิจัยนั้นเกิดขึ้นในอเมริกาและยุโรป ซึ่งใช้วัคซีนประเภท mRNA (เป็นหลัก) และวัคซีน viral vector
...สถิติการเดินทางท่องเที่ยวของทั่วโลกจะบ่งถึงความเสี่ยงที่ต้องระวัง หากดูข้อมูลจาก Ourworldindata จะพบว่าทวีปยุโรป และเอเชีย เป็นจุดหมายที่นักท่องเที่ยวเดินทางไปกันมากกว่าทวีปอื่น ดูในเอเชียก็จะพบว่า ไทยเราเป็นจุดหมายสำคัญ ซึ่งเป็นข้อดีที่จะทำให้เกิดรายได้ทางเศรษฐกิจตามมา
อย่างไรก็ตาม หากดูอัตราส่วนระหว่างนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามา และคนในประเทศที่ออกไปเที่ยวต่างประเทศนั้น ก็จะพบว่า ไทยเราเองมีขาเข้ามากกว่าขาออก คล้ายกับญี่ปุ่น แตกต่างจากอีกหลายประเทศ เช่น จีน อเมริกา และบางประเทศในยุโรป ที่ขาออกมากกว่าขาเข้า
สะท้อนให้ทราบได้ว่า หลังจากเปิดรับเสรีท่องเที่ยวแล้ว ย่อมมีแนวโน้มที่นักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีการระบาดสูงเข้ามาในประเทศได้มากขึ้น ความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่รับท่องเที่ยวนั้นก็จะมากขึ้นตาม ยังไม่นับเรื่องสายพันธุ์ไวรัสจากต่างถิ่นที่จะเข้ามา จำนวน ความหนาแน่น และความหลากหลายของสายพันธุ์ รวมถึงกิจกรรมการพบปะ บริการ คลุกคลีใกล้ชิดที่มากขึ้น ย่อมเป็นความเสี่ยงต่อการระบาดที่สูงขึ้นแน่นอน
การป้องกันตัวระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน ทำงาน เรียน หรือเดินทางไปที่ต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ และควรปฏิบัติอย่างเป็นกิจวัตร และควรไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนดและตามเงื่อนเวลาที่สอดคล้องกับข้อมูลวิชาการแพทย์
หัวใจสำคัญยิ่งคือ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอระหว่างใช้ชีวิตนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก และเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้เราประคับประคอง ปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเรา ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคที่การระบาดยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง อย่าหลงเชื่อการหยุดใส่หน้ากาก ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ เพราะสุดท้ายแล้วเวลาเกิดปัญหาขึ้นมา คนที่ต้องเผชิญกับปัญหาคือตัวท่าน และคนใกล้ชิด ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ควรประมาท.
อ้างอิง
Stoliaroff A et al. Vaccine effectiveness against severe COVID-19 during the Omicron wave in Germany: Results from the COViK study. medRxiv. 9 January 2023.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดพิกัดเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนในจุฬาฯ
ปีนี้งาน Night Museum at Chula เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดภายใต้แนวคิด “เสน่ห์ Science” ชูเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัวเรา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและเป็นแรงขับเคลื่อนทุกย่างก้าวของคนในปัจจุบัน
โควิดรายสัปดาห์ ป่วยนอนโรงพยาบาล 557 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 1 - 7 ธันวาคม 2567 ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์)
'หมอยง' ช้ำถูกวิกิพีเดียใส่ข้อมูลเท็จซ้ำเข้าไปแก้ไขไม่ได้
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา