หมอธีระเผยผลศึกษาจากเยอรมนีเชื่ออัตราการทวีคูณของ XBB.1.5 จะสูงกว่าทุกสายพันธุ์ ส่วนผลวิจัยมะกันตอกย้ำข้อดีของการฉีดวัคซีน ที่กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ลดป่วยรุนแรงและเสียชีวิต
04 ม.ค.2566 - นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 4 มกราคม 2566 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 304,015 คน ตายเพิ่ม 996 คน รวมแล้วติดไป 665,840,813 คน เสียชีวิตรวม 6,700,567 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ บราซิล ไต้หวัน และฝรั่งเศส เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 84.69 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 69.67
...อัพเดตท่าทีสหภาพยุโรปในการรับมือท่องเที่ยวจีน
ล่าสุดเมื่อคืนนี้ Kyriakides S ซึ่งเป็น European Commissioner for Health and Food Safety ได้รายงานว่าจากการประชุมเมื่อวาน ได้มีหลายแนวทางที่จะพิจารณาดำเนินการ ได้แก่ การตรวจคัดกรองโรคก่อนเดินทางสำหรับคนที่เดินทางจากจีน การตรวจน้ำเสียเพื่อตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส และการเพิ่มการเฝ้าระวังโรคภายในประเทศ
ทั้งนี้มาตรการต่างๆ ข้างต้นจะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม integrated political crisis response (IPCR) mechanism ในวันนี้เพื่อหาข้อสรุปที่กลุ่มประเทศยุโรปจะดำเนินการร่วมกัน
...อัตราการทวีคูณของ XBB.1.5 สูงกว่าทุกสายพันธุ์ที่มีตอนนี้
Gerstung M จากมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ได้เปรียบเทียบให้เห็นว่า Omicron สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 ที่ทั่วโลกคาดการณ์ว่าจะมีโอกาสระบาดไปทั่วในเวลาอันใกล้นี้ เพราะจากข้อมูลทุกทวีปแสดงให้เห็นอัตราการขยายตัวของการระบาดเป็นทวีคูณ (doubling time) ที่สูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่มีอยู่ โดยใช้เวลาเพียง 1-2 สัปดาห์
...วัคซีน ป้องกันทั้งตัวเรา และคนรอบข้าง
Tan ST และคณะ จาก UCSF ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ระดับสากล Nature Medicine เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2566 โดยทำการศึกษาในกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในคุกของรัฐแคลิฟอร์เนีย 35 แห่ง ตั้งแต่ธันวาคม 2564 ถึงพฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่ Omicron ระบาด ทั้งนี้ประชากรที่ศึกษาส่วนใหญ่เป็นเพศชาย
สาระสำคัญที่พบคือ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน จะมีโอกาสแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ราว 36% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 31%-42%) ในขณะที่ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน หากติดเชื้อ จะมีโอกาสแพร่เชื้อให้คนอื่นน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน โดยมีโอกาสราว 28% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 25%-31%)
หากวิเคราะห์เปรียบเทียบแล้ว พบว่า การฉีดวัคซีนจะช่วยลดโอกาสแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ 22% นอกจากนี้คนที่เคยฉีดวัคซีนและเคยติดเชื้อมาแล้ว จะลดโอกาสแพร่ให้คนอื่นราว 40%
ผลการศึกษานี้ตอกย้ำให้เราเห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีน นอกจากเกิดประโยชน์ต่อตัวเองเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ลดเสี่ยงป่วยรุนแรง เสียชีวิต และ Long COVID แล้ว ยังเกิดประโยชน์ต่อคนใกล้ชิด ลดความเสี่ยงที่เราจะแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นด้วย
การใช้ชีวิตอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible living) ทั้งต่อตัวเราเอง คนในครอบครัว และสังคม จะช่วยให้เราทุกคนสามารถประคับประคองตัวผ่านสถานการณ์ระบาดไปได้ ทำงาน เรียน เดินทางท่องเที่ยว ควรใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ป้องกันตัวเสมอ เลี่ยงกิจกรรมเสี่ยง สถานที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี รวมถึงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนด
ไม่สบาย ควรรีบตรวจ หากติดเชื้อควรแยกตัวจากคนอื่นอย่างน้อย 7-10 วัน จนอาการดีขึ้นและตรวจซ้ำได้ผลลบ
สำคัญที่สุดคือ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด
อ้างอิง
Tan ST et al. Infectiousness of SARS-CoV-2 breakthrough infections and reinfections during the Omicron wave. Nature Medicine. 2 January 2023.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดพิกัดเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนในจุฬาฯ
ปีนี้งาน Night Museum at Chula เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดภายใต้แนวคิด “เสน่ห์ Science” ชูเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัวเรา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและเป็นแรงขับเคลื่อนทุกย่างก้าวของคนในปัจจุบัน
โควิดรายสัปดาห์ ป่วยนอนโรงพยาบาล 557 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 1 - 7 ธันวาคม 2567 ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์)
'หมอยง' ช้ำถูกวิกิพีเดียใส่ข้อมูลเท็จซ้ำเข้าไปแก้ไขไม่ได้
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา
‘หมอยง’ สะท้อนความรู้สึกโควิด-19 ปีที่ 2 'ยุ่งเหยิง-ดราม่าวัคซีน-เซียนคีย์บอร์ด'
หลังการระบาดใหญ่ทั่วโลก ในปีแรก ทุกคนมุ่งหวัง ที่จะยุติการระบาดด้วยวัคซีน จึงมีการผลิตคิดค้นวัคซีนกันมากมาย มากกว่า 10 platform