อึ้ง! 'โอมิครอน' แตกหน่อต่อยอดกว่า 653 สายพันธุ์ย่อย ดื้อต่อภูมิคุ้มกัน-ติดง่าย


'หมอธีระ' เผย 'โอมิครอน' แตกหน่อต่อยอด กลายพันธุ์ไปกว่า 653 สายพันธุ์ย่อย ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่าเดิม ทำให้เกิดการแพร่ได้มากขึ้นง่ายขึ้น ชี้วัคซีน Bivalent ช่วยกระตุ้นระดับแอนติบอดี้ต่อสายพันธุ์ย่อยใหม่ๆ ได้ดีกว่าวัคซีนรุ่นเก่า

28 ธ.ค.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 368,543 คน ตายเพิ่ม 622 คน รวมแล้วติดไป 662,445,284 คน เสียชีวิตรวม 6,687,862 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 95.71 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 89.71
...ซุปสายพันธุ์ย่อยของ Omicron ทั่วโลก
"ลูกหลาน Omicron"

ข้อมูลล่าสุดจาก Rajnarayanan R มหาวิทยาลัยอาร์แคนซัสสเตท สหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นว่า Omicron แตกหน่อต่อยอด กลายพันธุ์ไปกว่า 653 สายพันธุ์ย่อยแล้ว
"การระบาดในออสเตรเลีย"
มีหลากหลายสายพันธุ์ย่อยกระจายไปในแต่ละพื้นที่ เช่น BR.2.1 พบ 18%, โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ และแทสมาเนีย, XBF พบ 22% ในรัฐวิคตอเรีย เซาธ์ออสเตรเลีย และแทสมาเนีย, BQ.* พบ 21% กระจายทั่วไป, CH.1.1 พบ 9% โดยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในควีนสแลนด์

...งานวิจัยจากญี่ปุ่นเกี่ยวกับความเสี่ยงหลังจากติดโควิด-19
Hirata T จาก Nagoya Institute of Technology ประเทศญี่ปุ่น เผยแพร่ผลการศึกษาผ่านทาง NHK เมื่อวานนี้ 27 ธันวาคม 2565 โดยวิเคราะห์ความเสี่ยงหลังเกิดการติดเชื้อโควิด-19 ในประชากรราว 1.25 ล้านคน ตลอดช่วงการระบาด 6 ระลอกที่ผ่านมา
พบว่าไม่ว่าจะระลอกใดก็ตาม กลุ่มคนที่มีประวัติติดเชื้อโรคโควิด-19 จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการเจ็บป่วยจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเรื้อรัง สูงกว่าประชากรทั่วไปที่ไม่ติดเชื้อหลายเท่า ทั้งกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ และเบาหวาน

...บทเรียนการบริหารจัดการวัคซีนและยาในดินแดนอันไกลโพ้น
ในปีที่แล้ว 2564 คงจดจำผลกระทบและความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้อย่างดี
ยาเป็นอาวุธสำคัญในการดูแลรักษาเวลาเจ็บป่วย
วัคซีนเป็นอาวุธสำคัญในการป้องกันโรค ลดเสี่ยงต่อป่วยรุนแรง เสียชีวิต และความผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID

ทั้งยาและวัคซีนนั้นเป็นอาวุธสำคัญยิ่งที่จะใช้เพื่อปกป้องสวัสดิภาพ และความปลอดภัยในชีวิตของทุกคนในสังคม เพื่อให้สามารถใช้ชีวิต ทำมาหากิน ศึกษาเล่าเรียน และอื่นๆ ไปได้อย่างตลอดรอดฝั่งยามวิกฤติโรคระบาดที่ยังไม่สงบ
ยาและวัคซีนที่เลือกนำมาใช้ จึงต้องมีการตัดสินใจโดยข้อมูลวิชาการที่ถูกต้อง ทันสมัย และเป็นที่ยอมรับ และที่สำคัญคือการตัดสินใจระดับนโยบายนั้นต้องทันต่อเวลา เพื่อให้ได้ยาและวัคซีนที่ดีมีประสิทธิภาพมาใช้ได้อย่างทันต่อสถานการณ์ เพียงพอ และทุกคนเข้าถึงได้

สถานการณ์ระบาดในปัจจุบันและอนาคตนั้น ทราบกันดีว่าสายพันธุ์ย่อยที่เกิดขึ้นมานั้นดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่าเดิมอย่างมาก และระงับยับยั้งภูมิคุ้มกันระดับเซลล์อย่าง CD8 T cells ด้วย ทำให้เกิดการแพร่ได้มากขึ้นง่ายขึ้น
วัคซีนที่แต่ละประเทศควรพิจารณานำมาใช้จึงควรอัพเดตให้ทันต่อสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลง

ประเทศพัฒนาแล้วทั้งอเมริกา ยุโรป สิงคโปร์ และอื่นๆ ได้มีการนำวัคซีน Bivalent มาใช้นานหลายเดือนแล้ว เพื่อหวังจะเป็นพื้นฐานทำให้ประชากรในประเทศยืนหยัดอยู่กับโควิดไปได้ควบคู่กับการใช้ชีวิตประจำวัน
งานวิจัยมากมายหลายชิ้นชี้ให้เห็นแล้วว่า Bivalent vaccines จะช่วยกระตุ้นระดับแอนติบอดี้ต่อสายพันธุ์ย่อยใหม่ๆ ได้ดีกว่าวัคซีนรุ่นเก่า นอกจากนี้ข้อมูลจากประเทศต่างๆ ที่ใช้วัคซีนใหม่นี้ก็ยืนยันถึงประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยได้ดี

การเงื้อง่าท่ามกลางวิกฤติ จะเกิดผลกระทบและความสูญเสียตามมาในอนาคตได้ หากไม่เรียนรู้บทเรียนตลอดช่วงการระบาดที่ผ่านมาว่าการตัดสินใจนโยบายนั้นสำคัญมาก
หากการเงื้อง่านั้นมีปัจจัยเรื่องความคุ้มค่าหรืออื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็คงต้องถึงเวลาที่ควรเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดทุกอย่างแก่สาธารณะ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ตามหลักธรรมาภิบาล เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตทุกชีวิตในสังคม
และน่าจะถึงเวลาเรียกร้องให้ปลดล็อคกลไกการจัดซื้อจัดหา ให้ทุกภาคส่วนมีสิทธิในการปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต
...ขอให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท
...การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องนั้นสำคัญมาก จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

อ้างอิง
1. New corona infection increases the risk of heart and blood vessel diseases Nagoya Institute of Technology. NHK. 27 December 2022.
2. Effectiveness of Bivalent mRNA Vaccines in Preventing Symptomatic SARS-CoV-2 Infection — Increasing Community Access to Testing Program, United States, September–November 2022. MMWR. 2 December 2022.
3. Early Estimates of Bivalent mRNA Vaccine Effectiveness in Preventing COVID-19–Associated Hospitalization Among Immunocompetent Adults Aged ≥65 Years — IVY Network, 18 States, September 8–November 30, 2022. MMWR. 16 December 2022.
4. Early Estimates of Bivalent mRNA Vaccine Effectiveness in Preventing COVID-19–Associated Emergency Department or Urgent Care Encounters and Hospitalizations Among Immunocompetent Adults — VISION Network, Nine States, September–November 2022. MMWR. 16 December 2022.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์จีโนมฯ จับตาโอมิครอน KP.2.3/XEC ลูกผสมพันธุ์ใหม่ แพร่เร็วกว่าเดิม 2 เท่า

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โอมิครอน KP.2.3/XEC : ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่แพร่เร็วกว่าเดิม 2 เท่า

อาจารย์หมอ เตือนอากาศร้อนมาก ผู้สูงอายุ-คนมีโรคประจำตัว ระวังการออกนอกบ้าน

คนสูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว ควรระมัดระวังการออกไปข้างนอกบ้าน  ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศ  ใช้หมวกหรือร่มบังแดด

ปรบมือรัวๆ ‘หมอธีระ’ วิเคราะห์การระบาด ‘โควิด’ ชี้ตอนนี้ไทยเป็นขาลง

อาจารย์หมอจุฬาฯ ชี้ตอนนี้ไทยเป็นขาลง แต่ขอให้ตระหนักว่าการติดเชื้อในระหว่างใช้ชีวิตประจำวันยังมีกันอยู่ต่อเนื่อง การเจ็บป่วยไม่ใช่เรื่องที่น่าพิสมัย ไม่ประมาท

‘หมอธีระ’ วิเคราะห์การระบาดโควิดรอบสัปดาห์ ผู้ป่วยปอดอักเสบมากขึ้น

จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ ถือว่าสูงที่สุดในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่ 10 มิถุนายน 2023 เป็นต้นมา และเป็นการเพิ่มอย่างต่อเนื่องถึง 7 สัปดาห์แล้ว