'หมอธีระวัฒน์'จี้รัฐฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง ยันผลทดสอบได้ผลดี ผลข้างเคียงต่ำกว่าการฉีดเข้ากล้าม10 เท่า

'หมอธีระวัฒน์'ยันการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง ไม่ใช่ประหยัดอย่างเดียว แต่เพื่อความปลอดภัยสูงสุดและผลแทรกซ้อน เผยทำการทดสอบแล้วได้ผลดี ผลข้างเคียง ต่ำกว่าการฉีดเข้ากล้าม 10 เท่าหรือมากกว่า

19 พ.ย. 2564 - ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า

การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง ไม่ใช่ประหยัดอย่างเดียว แต่เพื่อความปลอดภัยสูงสุดด้วย
ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ประหลาดมหัศจรรย์ ในการนำวัคซีนทุกประเภทมาใช้ในการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง

ทั้งนี้ประโยชน์ที่จะได้รับนั้นคือการที่จะสามารถประหยัดวัคซีนลงได้มหาศาล โดยเฉพาะในเรื่องของวัคซีนโควิด
ซึ่งข้อมูลในปัจจุบันยืนยันกันแล้วว่าต้องสามารถฉีดให้ได้ 90% ของคนในพื้นที่หรือในประเทศภายในระยะเวลาอันสั้น นั่นคือไม่เกินสามเดือน ทั้งนี้ เพื่อไม่เปิดโอกาสให้ไวรัสมีการแพร่เป็นลูกโซ่ออกไปต่อ

ซึ่งในระหว่างการแพร่นั้นจะมีการพัฒนาตนเองให้เก่งกาจมากขึ้น ทั้งในการติดง่ายซึ่งหมายถึงหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของมนุษย์ตามธรรมชาติและดื้อต่อภูมิที่ได้จากวัคซีนและยังร่วมทั้งดื้อต่อภูมิที่ได้จากการติดเชื้อที่เกิดขึ้นมาก่อนและทำให้อาการหนัก ตายมากขึ้น

โดยเห็นตัวอย่างมากมายแล้วว่าการติดเชื้อซ้ำครั้งที่สอง ยังเกิดได้ ตั้งแต่หนึ่งเดือนครึ่ง เป็นต้นไปและจะชัดเจนขึ้นตั้งแต่สามเดือนไปแล้ว แม้ว่าชื่อไวรัสยังคงเป็นยี่ห้อเดิมเช่นเดลต้า ถ้าเป็นเดลต้าที่มีทั้งไมเนอร์และเมเจอร์เชนจ์ แบบรถยนต์ที่ออกใหม่ที่มีเปลี่ยนไฟหลังไฟหน้าเบาะคอนโซลเป็นต้น นั้นเป็นผลจากการปล่อยให้มีการระบาดอย่างต่อเนื่องโดยควบคุมป้องกันไม่ทัน

จากการที่สามารถใช้วัคซีนปริมาณน้อย เลยทำให้สามารถเผื่อแผ่วัคซีนให้กับคนอื่นได้ทั่วถึง โดยที่วัคซีนแอสตร้านั้น หนึ่งโดสจะกลายเป็นห้า โมเดนา จากหนึ่งจะกลายเป็น 10 และไฟเซอร์จากหนึ่งจะกลายเป็นสาม และวัคซีนเชื้อตายก็เช่นกัน

โดยที่จะเป็นการฉีดกระตุ้นเข็มที่สาม หรือแม้แต่จะเป็นการฉีดตั้งแต่เข็มที่หนึ่งก็ตาม ยกเว้นในกรณีของวัคซีนเชื้อตายถ้าจะใช้ควรใช้เป็นเข็มที่หนึ่งและสองไม่ควรใช้เป็นตัวกระตุ้นเข็มที่สามเนื่องจากไม่ได้มูลค่าเพิ่มหรือกำไรเพิ่มเพราะเชื้อตายนั้นมีประโยชน์เพื่อวางเป็นรากฐานและให้วัคซีนยี่ห้ออื่นต่อยอด

ซึ่งการต่อยอดโดยยี่ห้ออื่นนี้ จะทำให้ภูมิคุ้มกันที่ตกลงอย่างรวดเร็วภายในสองเดือนหลังจากเข็มที่สองของเชื้อตายพุ่งขึ้นมาอย่างรวดเร็วภายในเวลาสองสัปดาห์และอยู่ในระดับสูงมากของภูมิที่ยับยั้งไวรัสได้
และนอกจากนั้นยังสามารถ คลุมข้ามสายพันธุ์ดั้งเดิมคือสายจีนมาเป็นสายอังกฤษและเดลต้าได้

วัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามนั้น เมื่อฉีดตามเข็มที่หนึ่งและสองของเชื้อตาย ถ้าใช้เอสตร้า จะป้องกันสายแอฟริกาไม่ได้ซึ่งอาจหมายรวมถึงสายเปรูด้วย ในขณะที่เข็มที่สามถ้าเป็นไฟเซอร์จะคุมสายแอฟริกาได้ด้วย แม้ว่าจะไม่ดีนักก็ตาม ซึ่งอาจจะอนุมานได้ว่าวัคซีนโมเดน่า ควรจะมีประสิทธิภาพคล้ายกัน

สำหรับวัคซีนเข็มที่หนึ่งและที่สองในกรณีของเชื้อตายที่ทางการนำมาฉีดไขว้ คือชิโนแว็กต่อด้วยแอสตร้า ตามหลักแล้วจะไม่ค่อยได้กำไรหรือไม่ได้เลย

เพราะหลักการฉีดไขว้นั้น หมายความว่าวัคซีนชนิดนั้นเข็มเดียวต้องเริ่มได้ผลแล้วและยอมรับกันแล้วว่าเข็มแรกแอสตร้า ซึ่งก็ทำให้ภูมิขึ้นได้แล้วและต่อด้วยไฟเซอร์หรือโมเดนา ซึ่งเข็มเดียวก็ได้ผลบ้างอยู่แล้ว เมื่อนำมาฉีดต่อกันจะทำให้การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันขึ้นดีกว่ายี่ห้อเดี่ยวสองเข็ม

ประโยชน์ที่สำคัญอีกประการคือในเรื่องของความปลอดภัยและผลแทรกซ้อน การฉีดเข้าชั้นผิวหนังจะใช้ปริมาณน้อยมาก

ดังนั้นการกระตุ้นทำให้เกิดผลแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจะน้อยกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นยังสามารถอธิบายได้จากการที่การฉีดเข้าชั้นผิวหนังนั้นกลไกในการกระตุ้นภูมิจะแยกออกอีกสายที่เรียกว่าเป็น Th2 ในขณะที่การฉีดเข้ากล้ามการกระตุ้นจะเป็นสาย Th1

และสาย Th1 นี้เองที่เป็นขั้นตอนกระบวนการ ของโควิดที่ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง ต่อจาก เม็ดเลือดขาว นิวโตรฟิล (กระบวนการ NETS สุขภาพพรรษา กลไกที่ทำให้เกิดเสมหะเหนียวขุ่นคลั่กและพังผืด) และต่อเนื่องจนกระทั่งเกิดมีลิ่มเลือดอุดตันหรือเนื้อเยื่อและอวัยวะอักเสบทั่วร่างกาย

รวมกระทั่งถึงกล้ามเนื้อหัวใจและสมองอักเสบที่เราเรียกว่ามรสุมภูมิวิกฤติ (cytokine storm)

ทั้งนี้เราทุกคนต้องไม่ลืมว่าวัคซีนนั้นคือร่างจำลองของไวรัสโควิดนั่นเองและส่วนที่วัคซีนทุกยี่ห้อนำมาใช้นั้นจะมีส่วนหรือชิ้นของไวรัสที่เกาะติดกับเซลล์มนุษย์และเป็นตำแหน่งเดียวกันกับที่ทำให้เกิดการอักเสบ จาก ACE2 รวมกระทั่งถึงการทำให้มีความเบี่ยงเบน ขาดสมดุลระหว่าง Th1 และTh2 โดยออกไปทาง Th1 และ ต่อด้วยอีกหลายสายย่อยรวมทั้ง 17 เป็นตัน

การฉีดเข้าชั้นผิวหนังเริ่มตั้งแต่ 37 ปีที่แล้ว โดยที่คณะของเราพยายามแก้ปัญหาที่ต้องการเลิกใช้วัคซีนเชื้อตายพิษสุนัขบ้าที่ทำจากสมองสัตว์และเกิดสมองอักเสบมากมาย แต่เมื่อจะใช้วัคซีนชนิดดีก็มีราคาแพงจึงได้ปรับเปลี่ยนเป็นการฉีดเข้าชั้นผิวหนังและเริ่มใช้ที่สถานเสาวภาก่อนในปี 1987 และขยายไปใช้ทั่วประเทศและได้แสดงให้ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันปาสเตอร์ของฝรั่งเศส จากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐและสถาบันไวรัส เอสเสน ของเยอรมัน ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญอื่นๆรับทราบและในที่สุดองค์การอนามัยโลกยอมรับให้ใช้ทั่วโลกในปี 1991 จากนั้นมีการทบทวนและการติดตามความปลอดภัยและประโยชน์ที่ได้รับเป็นระยะ ทุก 4-5 ปี และจวบจนกระทั่งครั้งสุดท้ายมีการจัดประชุมขององค์การอนามัยโลกที่คณะแพทยศาสตร์จุฬา ในปี 2017 และออกคู่มือคำแนะนำในปี 2018 ก็ยังยืนยันการฉีดเข้าชั้นผิวหนังอยู่เช่นเดิม จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้โดยที่มีคณะทำงานอิสระภายใต้องค์การอนามัยโลกทำการประเมินและรายงานในปี 2018 เช่นกัน
ทั้งนี้ได้มีการติดตามวิเคราะห์ข้อมูลทั่วโลกโดยยืนยันว่า คนที่ถูกหมากัดที่สงสัยหรือพิสูจน์ว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า 30,000 รายรอดชีวิตทั้งหมด

การฉีดเข้าชั้นผิวหนังยังนำมาใช้ในทวีปแอฟริกากับวัคซีนไข้เหลืองและยังรวมไปจนถึงวัคซีนสมองอักเสบ JE วัคซีนตับอักเสบบี และแม้แต่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ได้อนุมัติจากองค์การอนามัยโลกและสหรัฐ ที่ใช้จนถึงปัจจุบันนี้ก็ใช้วิธีการฉีดเข้าชั้นผิวหนังเช่นกัน

มีผู้สงสัยอยู่ว่า แล้วทำไมไม่เอาวิธีการฉีดเข้าชั้นผิวหนังตั้งแต่ต้น

คำถามนี้เป็นคำถามตั้งแต่ 37 ปีที่แล้ว และเราก็ได้ทราบคำตอบจากบริษัทวัคซีนหลายแห่งว่าเพราะขายได้น้อยลง แต่เราก็ช่วยอธิบายว่าถ้าสามารถใช้ได้ทั่วทุกคนจำนวนที่ขายแท้จริงแล้วก็ไม่ได้ลดลงและอาจจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ
คำถามที่ว่าการฉีดยุ่งยากแท้จริงแล้วเป็นการฉีดที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข พยาบาลปฏิบัติกัน ด้วยความช่ำชองยกตัวอย่างเช่น การฉีดวัคซีน บีซีจี ในเด็กแรกเกิด เป็นต้นและแม้แต่การฝึกการฉีดเพียง 15 นาทีหรือครึ่งชั่วโมงก็ฉีดเป็น โดยใช้กระบอกฉีดยาที่ใช้ฉีดในคนเป็นเบาหวานและใช้เข็มขนาดเล็กมาก

โดยประโยชน์ที่ได้รับและทำให้คนเข้าถึงได้ทุกคน เท่าเทียมกันในระยะเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งมีความปลอดภัยมากกว่า

ทั้งนี้จนกระทั่งถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2564 คณะทำงานประสานทีมต่างๆของเราอันประกอบไปด้วย อาจารย์หมอเขตต์ ศรีประทักษ์สถาบันโรคทรวงอก อาจารย์หมอทยา กิติยากร โรงพยาบาลรามาธิบดี และอาจารย์ด็อกเตอร์อนันต์ จงแก้ววัฒนา ไบโอเทค สวทช และหมอเองและคณะศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์จุฬา
ได้ทำการทดสอบการฉีดเข้าชั้นผิวหนังไม่ต่ำกว่า 400 ราย ได้ผลดีและมีผลข้างเคียงเป็นเฉพาะที่ตุ่มแดงหรือคันโดยผลข้างเคียงรุนแรงไข้ปวดหัวปวดเมื่อยและอาการร้ายแรงอื่นๆไม่ปรากฏหรือน้อยมาก ซึ่งประสบการณ์การศึกษาของ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และจากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ก็ได้แสดงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในลักษณะเดียวกัน โดยผลข้างเคียงที่เกิดแก่ระบบทั่วร่างกาย ต่ำกว่าการฉีดเข้ากล้าม 10 เท่าหรือมากกว่า

จนกระทั่งถึงเวลานี้ เดี๋ยวนี้คงต้องเป็นเรื่องที่ทางการต้องรีบตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศและความปลอดภัยสูงสุด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บิดสะบัดคอระวังอัมพฤกษ์! ‘หมอธีระวัฒน์’ แนะวิธีแก้เมื่อยคอด้วยตัวเองที่ถูกต้อง

เรื่องใกล้ตัวที่เป็นท่าบริหารประจำหรือที่ทำ เวลาเมื่อย หรือเป็นกระบวนการในการนวดคลายเมื่อย ดัดเส้น รวมทั้ง เป็นกรรมวิธีในการบำบัดทางกายภาพและจัดกระดูก

'เส้นเลือดแตกในสมอง' ทำไมพบบ่อยมากและรุนแรงขึ้น

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและสมอง และที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์ตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เส้นเลือดแตกในสมอง

ไขข้อข้องใจ! ทำไมกินช็อกโกแลตแล้วสุขภาพดี

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า กินช็อกโกแลตแล้วสุขภาพดี…… สนใจมั้ย?

'หมอสมอง' เตือน! 'บิด เอียง สะบัดหมุน ดัดคอ' เสี่ยงอัมพฤกษ์

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและสมอง และที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์ตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า บิด เอียง สะบัดหมุน ดัดคอ…แล้วก็เสี่ยงอัมพฤกษ์