19 พ.ย. 2564 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ทะลุ 256 ล้านคนไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 579,881 คน ตายเพิ่ม 7,353 คน รวมแล้วติดไปรวม 256,287,423 คน เสียชีวิตรวม 5,145,949 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด ยังเป็นเช่นเดิมคือ อเมริกา เยอรมัน สหราชอาณาจักร รัสเซีย และโปแลนด์ จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 95.68 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 92.46
ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นมากถึง 65.09% ของทั้งโลก พอๆ กับจำนวนเสียชีวิตเพิ่มที่คิดเป็น 56.19% เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก
…สำหรับสถานการณ์ไทยเรา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 6,901 คน สูงเป็นอันดับ 20 ของโลก หากรวม ATK อีก 2,106 คน จะขยับเป็นอันดับ 17 ของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ไทยเป็นอันดับ 3 ของเอเชียรองจากตุรกีและเวียดนาม
…บทเรียนจากต่างประเทศ และบทเรียนจากระลอกก่อนๆ
หนึ่ง จุดเริ่มของศูนย์กลางการระบาดย้ายทวีปไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามประเทศต่างๆ ทั่วโลกล้วนได้รับผลกระทบแน่ ไม่ช้าก็เร็ว ดังที่เห็นจากระลอกแรกเริ่มที่จีน ต่อด้วยระลอกสายพันธุ์จีจากยุโรป ต่อด้วยระลอกอัลฟ่าจากสหราชอาณาจักร และระลอกเดลต้าจากอินเดีย
ดูโดยคร่าวไทยเรามักเจอผลกระทบหลังจากเริ่มแต่ละระลอกราว 1.5-2 เดือน ดังนั้นคงต้องเตรียมความพร้อมรับมือช่วงคริสตมาสและปีใหม่ การใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตนเองและสมาชิกในครอบครัวอย่างเคร่งครัดจะช่วยได้
สอง ติดเยอะ ต่อให้ทรัพยากรมากเพียงใด ก็ยืนระยะลำบาก ดังที่ตอนนี้เราเห็นหลายประเทศกำลังตกอยู่ในวิกฤติ แม้ฉีดวัคซีนครบโดสไปมากกว่าไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป ซึ่งปัจจัยสำคัญคือ มาตรการป้องกันตัวระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน ที่หากย่อหย่อนก็จะแพร่ระบาดกลับมาได้ง่าย และแม้ได้วัคซีนไปครบสองโดส แต่เมื่อเวลาผ่านไปนาน ระดับภูมิคุ้มกันตกลงไป ก็จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะขยับการครบโดสจากสองกลายเป็นสามเข็ม
ตัวชี้วัดที่เป็นเปอร์เซ็นต์การฉีด 1 เข็ม ไม่ค่อยมีประโยชน์ที่จะบ่งถึงความสำเร็จในการควบคุมป้องกันโรคมากนัก เพราะประสิทธิภาพการป้องกันน้อยและสั้น ในขณะที่เปอร์เซ็นต์ครบ 2 เข็ม มีประโยชน์ เพราะอย่างน้อยจะช่วยสะท้อนประสิทธิภาพที่หวังได้จากการป้องกันของแต่ละชนิดของวัคซีนที่ใช้ ว่าจะมากเพียงใด ยาวนานเพียงใด ส่วนเปอร์เซ็นต์การได้เข็มสาม และเข็มต่อๆ ไปนั้นจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งต่อสาธารณสุขของแต่ละประเทศ และการไปมาหาสู่ระหว่างกัน
สาม ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นอยู่นี้ เกิดมากทั้งในหมู่ประชาชนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน กลุ่มประชากรที่ยังได้ไม่ครอบคลุม เช่น เด็ก เยาวชน แต่การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นนั้น ก็ยังกระจายระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน ที่ทำงาน รวมถึงภายในครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง
ไทยเราจึงต้องระวังมากๆ ในเรื่องโรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่เปิดการเรียนการสอนออนไซต์ มาตรการป้องกันส่วนบุคคลต้องเคร่งครัด ทั้งระหว่างที่เรียนในห้องเรียน และระหว่างการรับประทานอาหาร ทั้งนักเรียน นิสิตนักศึกษา และครูอาจารย์ ใส่หน้ากาก อยู่ห่างๆ กัน แยกกันกินอาหาร จะปลอดภัยกว่ากินรวมเป็นกลุ่ม หากนั่งกินด้วยกันจริงๆ เวลากินต้องไม่คุย ใช้เวลากินสั้นๆ หากจะคุยต้องใส่หน้ากาก ในสถานที่ทำงานทุกแห่งก็เช่นกัน
…ล่าสุดงานวิจัยทบทวนอย่างเป็นระบบ โดย Talic S และคณะ เผยแพร่ในวารสารวิชาการแพทย์ระดับสากล British Medical Journal วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ชี้ให้เห็นว่า มาตรการป้องกันตัวที่สำคัญมากในการควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 คือ 2 เรื่องดังที่ผมย้ำเตือนพวกเราเสมอมา นั่นคือ “ใส่หน้ากาก และการอยู่ห่างจากคนอื่น” ถ้าเราช่วยกันปฏิบัติอย่างเป็นกิจวัตร โอกาสอยู่รอดปลอดภัยของเราก็มีสูง และเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นในสังคมด้วย
อ้างอิง Talic S et al. Effectiveness of public health measures in reducing the incidence of covid-19, SARS-CoV-2 transmission, and covid-19 mortality: systematic review and meta-analysis. BMJ. 18 November 2021.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน
ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 549 ราย ดับเพิ่ม 1 คน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2567
โควิดกลับมาระบาดใหม่ ‘หมอมนูญ’ ขออย่าตื่นตระหนก รักษาตามอาการหายได้
เวลาผ่านไปโรคโควิดลดความรุนแรงลง โรคโควิดไม่น่ากลัวหมือนเมื่อ 3-4 ปีก่อน คนไทยไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจกลัวโรคโควิดมากเกินไป
สายการบิน 'ลุฟท์ฮันซา' ต้องจ่ายค่าปรับกรณีเลือกปฏิบัติต่อผู้โดยสารชาวยิว
สายการบินลุฟท์ฮันซาต้องจ่ายค่าปรับจำนวน 4 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกา เหตุเพราะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดขอ
ไทยติดโควิดรอบสัปดาห์ 353 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 6 - 12 ตุลาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่