'หมอยง' หวั่นหน้ากากอนามัยทำเด็กเล็กถูกปิดกั้นพัฒนาการด้านภาษา

“ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ” ชี้แม้หน้ากากอนามัยจะช่วยป้องกันโควิด แต่อาจทำให้พัฒนาการทางภาษาของเด็กเล็กมีปัญหาได้ แนะเด็กต่ำกว่า 2 ขวบและเด็กที่อยู่ในบ้านไม่จำเป็นต้องใส่

18 พ.ย.2564 - ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “โควิด-19 วัคซีน การใส่หน้ากากอนามัย กับการพัฒนาการของเด็ก” ระบุว่า ในภาวะปกติใหม่ (new normal) หรือ ภาวะปกติต่อไป (next normal) การใส่หน้ากากอนามัยเป็นผลดีในการป้องกันการแพร่กระจายของโรคในระบบทางเดินหายใจ ไม่ใช่เฉพาะ โควิด 19 เท่านั้น แม้กระทั่งวัณโรคที่เป็นปัญหาในประเทศไทย

ในขณะเดียวกันในช่วงเด็กกำลังพัฒนา สิ่งที่สำคัญโดยเฉพาะเด็กเล็ก จะต้องมีการเรียนรู้ทางด้านภาษา โดยเฉพาะการพูดและการฟัง ในการพูด ถ้ามีหน้ากากอนามัย ก็อาจจะทำให้การพูดลำบากกว่าปกติ การสะกดเสียงต่างๆ และในการฟัง การเรียนรู้ จะมีทั้ง ภาษาพูดและภาษาท่าทาง (verbal และ nonverbal) ในภาษาท่าทาง การฟังเสียงพูดเด็ก จะสังเกตริมฝีปาก สีหน้าและจะมีการเข้าใจความหมายที่พูดได้เพิ่มขึ้น การใส่หน้ากากอนามัย ก็อาจจะมีผลในการปิดกั้นพัฒนาการทางด้านการเรียนรู้ทางด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาพูด และภาษาท่าทางของเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็ก โดยทั่วไปเด็กต่ำกว่า 2 ขวบก็ไม่ควรใส่หน้ากากอนามัย รวมทั้งเด็กเล็กที่อยู่ในบ้าน

สิ่งที่สำคัญเราอยากให้โรคนี้สงบอย่างรวดเร็ว และชีวิตที่ใช้จะได้กลับคืนสู่ปกติ ถึงแม้ว่าจะมีภาวะปกติต่อไป next normal บางสิ่งบางอย่าง ก็อาจจะมีความจำเป็น ทางด้านพัฒนาการของเด็ก

ถ้าเราอยากให้โรคโควิด 19 สงบ หรือมีผู้ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ หรือ มีอาการน้อย และมียารักษา ทุกคนควรจะได้รับวัคซีนให้เกิดภูมิต้านทาน ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจะช่วยลดความรุนแรงของโรค และต่อไปถึงแม้ว่าจะมีการติดเชื้อ ก็จะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย เชื้อจะไปกระตุ้นภูมิต้านทานของเรา ให้เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา และเราก็จะอยู่กับโรคโควิด 19 เหมือนโรคทางเดินหายใจอื่นๆ

จึงอยากจะเชิญชวนให้ทุกคนได้รับวัคซีน อย่างน้อย 2 เข็มก่อน และในที่สุดทุกคน ก็จะต้องได้รับการกระตุ้นเข็มที่ 3 เพื่อให้ภูมิคงอยู่ และอยู่นาน ต่อไปชีวิตต่างๆ ก็จะค่อยๆ กลับคืนสู่ภาวะปกติ #หมอยง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดข้อมูล ‘ไวรัสโควิด’ สร้างได้ในห้องทดลอง มีจดสิทธิบัตรตั้งแต่ปี 2018

การสร้างไวรัสใหม่ชนิดนี้จะสามารถครอบคลุมไวรัสที่จะแพร่และเกิดโรคระบาดในมนุษย์ได้ทั้งสิ้น และสามารถที่จะสร้างวัคซีนให้มนุษย์ก่อนได้