'หมอธีระ' อัพเดตจาก WHO โควิดสายพันธุ์ Omicron ระบาด 99.9% ทั่วโลก สายพันธุ์ย่อย BQ.1.x ระบาด 73 ประเทศ เพิ่มขึ้นเป็น 23.1% ส่วน XBB ลามแล้ว 47 ประเทศ เพิ่มขึ้นเป็น 3.3% ชี้ดื้อต่อภูมิคุ้มกัน หวั่นจะครองสัดส่วนการระบาดหลัก
25 พ.ย.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความรายงานสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ประจำวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 มีรายละเอียดดังนี้
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 193,177 คน ตายเพิ่ม 516 คน รวมแล้วติดไป 644,676,307 คน เสียชีวิตรวม 6,632,076 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 87.88 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 74.22
...อัพเดตจาก WHO
องค์การอนามัยโลกได้ออกรายงาน WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ในรอบเดือนที่ผ่านมา โควิด-19 สายพันธุ์ Omicron ครองสัดส่วนการระบาด 99.9% ทั่วโลก
จากการวิเคราะห์สายพันธุ์ย่อย พบว่า BA.5 ยังคงมีสัดส่วนถึง 72.1%, BA.2 มีการระบาดสูงขึ้นเป็น 9.2% (เดิม 6.4%), BA.4 ลดลงเล็กน้อยเหลือ 3%
สำหรับสายพันธุ์ย่อยที่เป็นที่จับตาเฝ้าระวังกันอยู่นั้น จากการวิเคราะห์สัปดาห์ล่าสุด พบว่า
BQ.1.x มีการขยายวงระบาดไปถึง 73 ประเทศทั่วโลก และสัดส่วนการตรวจพบเพิ่มขึ้นเป็น 23.1% (เดิมสัปดาห์ก่อนอยู่ที่ 19.1%)
ในขณะที่ XBB นั้น ลามไปแล้ว 47 ประเทศ และตรวจพบเพิ่มขึ้นเป็น 3.3% (เดิม 2%)
...เป็นที่ทราบกันดีว่า จากการศึกษาวิจัยทั่วโลก ชี้ให้เห็นว่าทั้ง BQ.1.x และ XBB นั้น ต่างก็มีสมรรถนะที่ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่าสายพันธุ์ต่างๆ ที่เคยระบาดมาก่อนหน้านี้ และยังมีลักษณะการเปลี่ยนแปลงไปใช้กลไกการจับกับเซลล์โดยใช้ตัวรับ TMPRSS2 ที่เหมือนกับสายพันธุ์เดลต้ามากขึ้นกว่า Omicron สายพันธุ์ดั้งเดิมที่ใช้กลไก endocytosis ทำให้สายพันธุ์ย่อยเหล่านี้อาจมีแนวโน้มที่จะลงปอดหรือเกิดป่วยรุนแรงได้ จึงไม่ควรประมาท
...ระลอกล่าสุดที่ปะทุขึ้นมาในประเทศต่างๆ ทั่วโลกนั้นก็มีสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้อยู่ด้วย แม้ว่า BA.5 จะยังครองการระบาดหลักอยู่ก็ตาม ทั้งนี้เชื่อว่าจะใช้เวลาอีกสักระยะ ที่สายพันธุ์ข้างต้นจะครองสัดส่วนการระบาดหลัก
...สำหรับสถานการณ์ไทยเรานั้น
สังเกตกันได้ชัดเจนว่า ตอนนี้มีติดเชื้อกันรายรอบตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ขอให้ระมัดระวังตัว ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องระหว่างที่ตะลอนออกนอกบ้าน ทำงาน เรียน ท่องเที่ยว
พยายามรักษาระยะห่างจากคนอื่น ไม่กินดื่มร่วมกัน ลดละเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง สถานที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี ถือเป็นเรื่องที่ควรทำเป็นกิจวัตร
เตรียมชุดตรวจ ATK หยูกยา และอุปกรณ์จำเป็นอื่น พร้อมสถานที่ต่างๆ ไว้ ก็จะช่วยให้จัดการเวลาเกิดปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที
อย่าหลงคำลวงอวดอ้างยาผีบอก พืชผักสมุนไพร อาหารเสริม ยาฆ่าพยาธิ ยาจิตเวช และอื่นๆ ที่ไม่ใช่มาตรฐานการรักษาที่เป็นที่ยอมรับ
ติดเชื้อไม่จบแค่ชิลๆ หาย หรือตาย แต่เสี่ยงต่อภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ได้
ข้อมูลลวงที่บอกว่าคนติดเชื้อกันเยอะแยะ แต่ก็หายแล้วดำรงชีวิตได้ตามปกติ ไม่ต้องไปกลัวติดเชื้อนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะโลกแห่งความเป็นจริง มีคนจำนวนมากที่ติดเชื้อแล้ว เกิดอาการผิดปกติคงค้างเรื้อรัง ตั้งแต่ปัญหาด้านการนอนหลับ ความคิดความจำ สมาธิ รวมถึงปัญหาในระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น คัดจมูก ไอ เหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว ตลอดจนโรคเรื้อรังอื่นที่ได้รับการพิสูจน์ทั่วโลกแล้วว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหลังจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 เช่น เบาหวาน เป็นต้น
Long COVID เป็นได้ทุกเพศ ทุกวัย และเกิดขึ้นได้ทั้งในคนที่ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการมาก
ยามที่เกิดขึ้นมาแล้ว คนที่เผชิญกับปัญหาย่อมเป็นคนที่เป็นทุกข์ มิใช่คนที่สร้างคำลวงด้วยกิเลส
เราต้องเรียนรู้บทเรียนที่เกิดขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมาว่า ความสูญเสียที่เกิดมากมาย และวิกฤติครั้งแล้วครั้งเล่าที่ต้องเผชิญ ต้องพึ่งพาตนเองหาทางรอดจากปัญหาต่างๆ นั้น เกิดขึ้นเพราะเหตุใด อะไรที่ควรเชื่อ อะไรที่ควรทำ
ขอให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ใช้ปัญญา ความรู้ที่ถูกต้อง ในการพิจารณาประพฤติปฏิบัติ ดูแลตนเองและครอบครัวให้มีสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด รวมถึงภัยคุกคามในสังคมที่มีมากในสังคมปัจจุบัน เช่น ยาเสพติดต่างๆ
ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อซ้ำ ย่อมดีที่สุด
การไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบมีความจำเป็น
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ เป็นหัวใจสำคัญมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘หมอธีระ’ ห่วงผู้ป่วยโควิดรอบสัปดาห์ มีอาการปอดอักเสบเพิ่มขึ้น
สัญญาณที่น่าเป็นห่วง และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โควิด-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา ไม่กระจอก ไม่ได้เป็นไปตามฤดูกาล
อาจารย์หมอ ห่วงป่วยโควิดเพิ่ม นอนรักษาตัวรพ. พุ่งขึ้น 18.26% ต่อเนื่อง 6 สัปดาห์
คาดประมาณจำนวนคนติดเชื้อใหม่ต่อวันอย่างน้อย 7,172-9,961 ราย เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปีนี้ และปีก่อน