อาจารย์หมอจุฬาอัปเดตความรู้เรื่องโควิดจากแดน 'มะกัน-ไส้กรอก'

'หมอธีระ' อัปเดตเรื่องโควิด-19 ชี้ผลวิจัยมะกันบ่งชัดการใส่หน้ากากอนามัยในโรงเรียนยังจำเป็น ส่วนผลศึกษาเยอรมนีตอกย้ำ Long COVID มีผลต่อสมาธิและความจำ

10 พ.ย.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด19 ประจำวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 270,040 คน ตายเพิ่ม 653 คน รวมแล้วติดไป 638,679,312 คน เสียชีวิตรวม 6,608,881 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 91 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 87.59

...อัปเดตความรู้โควิด-19
"นโยบายการใส่หน้ากากในสถานศึกษามีความสำคัญ" Cowger TL และคณะ จากมหาวิทยาลัย Harvard ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ระดับโลก New England Journal of Medicine เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ดูอัตราการเกิดการติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ในนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน จำนวน 72 พื้นที่ (school districts) โดยมีนักเรียนจำนวน 294,084 คน และบุคลากรจำนวน 46,530 คน ตั้งแต่ช่วงปี 2564-2565 (ระยะเวลา 40 สัปดาห์ ติดตามจนถึง 15 มิถุนายน 2565)

พบว่า โรงเรียนที่ยกเลิกการใส่หน้ากากนั้นมีอัตราการติดเชื้อแพร่เชื้อของนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนสูงกว่าโรงเรียนที่ยังมีนโยบายให้ใส่หน้ากากอย่างชัดเจน ผลการศึกษานี้ตรงไปตรงมา สอดคล้องกับธรรมชาติของโรคและความรู้เกี่ยวกับโรคติดต่อที่เราทราบกันดี และตอกย้ำให้เราเห็นถึงความสำคัญของการป้องกันตัวเอง ทั้งนักเรียน และคุณครู เพราะการติดเชื้อนั้นนอกจากจะทำให้เสี่ยงต่อการระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ในโรงเรียนแล้ว ยังจะนำพาไปสู่คนในครอบครัวและสังคมต่อกันไปเป็นโดมิโน

ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดที่ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง หากรวมกลุ่มคนจำนวนมาก อยู่กันใกล้ชิด การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอเป็นเรื่องจำเป็น

"ปัญหาด้านความคิดความจำหลังติดโควิด-19" เป็นที่ทราบกันดีว่า การติดโควิด-19 นั้น จะทำให้เกิดความผิดปกติระยะยาวได้ทุกระบบในร่างกาย (Long COVID) โดยเกิดได้ทั้งในคนที่ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ มีอาการน้อย และมีอาการป่วยรุนแรง และเป็นได้ทุกเพศทุกวัย มากน้อยแตกต่างกันไป หญิงเสี่ยงกว่าชาย ป่วยรุนแรงเสี่ยงกว่าอาการน้อย และพบมากในช่วงวัยทำงานมากกว่าวัยอื่นๆ

อาการผิดปกติเรื่องหนึ่งที่พบบ่อย คือปัญหาเกี่ยวกับสมองและระบบประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความคิดความจำ (brain fog) และสมาธิ

ล่าสุด Venkataramani V และคณะ จากมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ได้เผยแพร่ผลการศึกษาใน New England Journal of Medicine วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 นำเสนอผลการศึกษาในหนูทดลอง ที่ชี้ให้เห็นกลไกการเกิดความผิดปกติในสมอง และเป็นสมมติฐานที่อาจอธิบายกลไกที่เกิดปัญหา Brain fog ในคนได้
โดยพบว่า หลังจากที่ติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 แล้ว ไวรัสจะกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบของเซลล์สมอง และกระตุ้นการทำงานของเซลล์ Microglia และเกิดการสูญเสียของเซลล์สมองประเภท Oligodendrocytes รวมถึงการสูญเสียปลอก Myelin ที่หุ้มเส้นใยประสาท Axon และการลดลงของการสร้างเซลล์ประสาทในส่วน Hippocampus จนกระทั่งนำไปสู่ปัญหาด้านความคิดความจำ (Cognitive impairment) ตามมา

ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับงานที่ Cao J และคณะ ได้เผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์การแพทย์ Cell เมื่อกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่ชี้ให้เห็นกลไกการอักเสบของเซลล์สมองหลังการติดเชื้อโควิด-19 เช่นเดียวกัน

...การป้องกัน Long COVID ที่ดีที่สุดคือ "การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ" การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง ระหว่างใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

อ้างอิง
1. Cowger TL et al. Lifting Universal Masking in Schools — Covid-19 Incidence among Students and Staff. New England Journal of Medicine. 9 November 2022.
2. Venkataramani V et al. Cognitive Deficits in Long Covid-19. New England Journal of Medicine. 10 November 2022.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จุฬาฯ เดินหน้ายุทธศาสตร์ใหม่ สร้าง Siam Square ให้เป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน รวมพลคนพิการโชว์พลังครั้งใหญ่ที่สุด!

อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีม PMCU (สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ) และ มูลนิธิ Five for All เปิดงาน Siam Square Walking Street For All ครั้งแรก! บนพื้นที่ใจกลางสยามสแควร์ ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม

เปิดข้อมูล ‘ไวรัสโควิด’ สร้างได้ในห้องทดลอง มีจดสิทธิบัตรตั้งแต่ปี 2018

การสร้างไวรัสใหม่ชนิดนี้จะสามารถครอบคลุมไวรัสที่จะแพร่และเกิดโรคระบาดในมนุษย์ได้ทั้งสิ้น และสามารถที่จะสร้างวัคซีนให้มนุษย์ก่อนได้

ดิจิทัล วอร์รูม เตือนภัยฝ่าน้ำท่วม-ดินโคลนถล่ม

ภาคเหนือเผชิญอุทกภัยรุนแรง โดยเฉพาะที่ อ.แม่สาย น้ำท่วมตัวเมือง มีน้ำป่าไหลทะลักลงตามแม่น้ำสาย ทำให้บ้านเรือน ร้านค้า ตลาดสด พื้นที่เกษตรที่ติดลำน้ำสายได้รับความเสียหายอย่างหนัก ปัจจุบันแม้น้ำแห้งแล้วแต่ประชาชนยังจมโคลนจมฝุ่นต้องการการช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาจากปัญหาที่น้ำท่วมได้ทิ้งไว้ตามบ้านเรือนของประชาชนและสถานที่ต่างๆ