สธ. จัด LAAB ให้ทุกจังหวัด หลังใช้กับโควิดอาการน้อยถึงปานกลาง ได้ผลดี ลดรุนแรง-เสียชีวิตเกินครึ่ง

9 พ.ย.2565- นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long Acting Antibody : LAAB) ว่า ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขนำ LAAB หรือชื่อการค้า Evusheld มาฉีดเพื่อป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อในกลุ่มผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำและร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ด้วยวัคซีนจำนวนกว่า 6,300 ราย พบว่ามีความปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียงรุนแรง ส่วนการใช้เพื่อการรักษาเหมือนในต่างประเทศนั้น เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติขยายข้อบ่งใช้เพื่อการรักษาโรคโควิด 19 สำหรับผู้ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ในกลุ่มผู้ใหญ่และวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ที่มีน้ำหนักตัวอย่างน้อย 40 กิโลกรัม โดยใช้ขนาด 600 มิลลิกรัม และได้มีการประชุมของคณะผู้เชี่ยวชาญ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาปรับปรุงแนวทางการใช้ LAAB และกำหนดไว้ในแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโรคโควิด 19 ฉบับใหม่ต่อไป

“ผลการศึกษาวิจัยการใช้ LAAB ขนาด 600 มิลลิกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางที่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก และมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต พบว่า การให้เพื่อการรักษาภายใน 5-7 วันหลังมีอาการ สามารถลดการเกิดโรครุนแรงหรือเสียชีวิตได้ 50-67% และสูงถึง 88% ถ้าได้เร็วรับภายใน 3 วันหลังเริ่มมีอาการ จึงเป็นข้อสนับสนุนในการนำภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปมาใช้เพื่อการรักษาอีกทางหนึ่ง” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า วันนี้ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรมควบคุมโรค ได้หารือถึงการบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 และ LAAB หลังปรับลดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยมีแนวทางในการเบิกและจัดส่ง ดังนี้ 1.กรมควบคุมโรคสำรวจความต้องการวัคซีนโควิด 19 และ LAAB (รอบปกติ) เดือนละ 1 ครั้งทุกวันที่ 20 ของเดือน โดยเป็นการเบิกล่วงหน้าประมาณ 2 เดือน และให้จังหวัดรายงานความต้องการผ่านกองตรวจราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 2.กรมควบคุมโรคจัดส่งวัคซีนโควิด 19 และ LAAB รอบปกติ ภายในวันสุดท้ายของเดือนถัดไป 3.จังหวัดสำรองวัคซีนและ LAAB ที่มีอายุยาวอย่างน้อย 2 เดือนขึ้นไป เพื่อป้องกันการหมดอายุ เนื่องจากหลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องจัดจ้างส่งวัคซีนตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ.2560 ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการจัดส่งเพิ่มขึ้น และ 4.การขอรับสนับสนุนวัคซีนและ LAAB เพิ่มเติม (นอกรอบปกติ) กรณีเร่งด่วน ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทำหนังสือถึงกรมควบคุมโรค ระบุชนิดและจำนวน รวมถึงวันเวลาที่ต้องการรับ และมารับที่คลังวัคซีนกรมควบคุมโรคโดยตรง ส่วนกรณีที่มีวัคซีนสำรองอยู่ในจังหวัดหรือเขตสุขภาพ สามารถบริหารจัดการเกลี่ยวัคซีนที่มีอยู่ได้ตามความเหมาะสม ซึ่งหากเป็น LAAB จะใช้เวลาเตรียมการจัดส่งประมาณ 5 วัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอยง' ชี้ 'โควิด' ระบาดหนัก แต่รุนแรงลดลง เข้าใกล้ไข้หวัดใหญ่

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19

‘เศรษฐา’ ลาป่วยติดโควิด กลับมาปฎิบัติงานวันที่ 19 มิ.ย.นี้

นายกรัฐมนตรี ได้พบแพทย์ หลังจากมีอาการป่วย อ่อนเพลียเล็กน้อย ตั้งแต่วันศุกร์ ที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา ผลการตรวจพบว่าติดโควิด

ทุบสถิติปีนี้! ไทยติดโควิดใหม่รายสัปดาห์ทะลุ 2.7 พันคน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 2 - 8 มิถุนายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล