สธ.ยันวัคซีนโควิดเด็กฉีดพร้อมวัคซีนอื่นๆ ได้!

กรมควบคุมโรค เผยการฉีดวัคซีนโควิด19 ของไฟเซอร์ในเด็ก​ ​6 เดือน​ -​4 ปี สามารถฉีดพร้อมวัคซีนชนิดอื่นในวันเดียวกันได้

13 ต.ค.2565​ - นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากมติการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค แนะนำให้เด็กอายุ 6 เดือน - 4 ปี เข้ารับวัคซีนไฟเซอร์ ฝาสีแดง เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งข้อมูลสถานการณ์การติดเชื้อโควิด 19 พบว่า ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี พบอัตราป่วยสูงเป็น 1.5 เท่าของเด็กอายุ 5-9 ปี และพบอัตราการเสียชีวิตสูงเป็น 3 เท่าของเด็กอายุ 5-9 ปี เพื่อป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต ผู้ปกครองจึงควรพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนตามกำหนด

สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ไฟเซอร์ ฝาสีแดงจะฉีดให้เด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือน - 4 ปี ซึ่งกำหนดให้ฉีดวัคซีน 0.2 ซีซี (3 ไมโครกรัม) จำนวน 3 เข็ม เข็มสองห่างจากเข็มแรก 1 เดือน และเข็มสามห่างเข็มสอง 2 เดือน หลังฉีดให้สังเกตอาการ 30 นาที และติดตามต่อจนครบ 1 เดือน โดยให้จัดจุดบริการแยกจากกลุ่มวัยอื่น เพื่อป้องกันความสับสนในการใช้วัคซีน

“เด็กทุกคนควรเข้ารับวัคซีน โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรงหรือเสียชีวิต พร้อมทั้งได้มีการสื่อสารถึงเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขในเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์สีแดง โดยให้ผ่านระบบสถานพยาบาล หรืออาจพิจารณาให้วัคซีนในศูนย์เด็กเล็กภายใต้กำกับของแพทย์ หรือตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานครเห็นสมควร เริ่มฉีดวัคซีนได้เมื่อมีความพร้อม โดยให้เป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครองและเด็ก ไม่เสียค่าใช้จ่าย และการรับวัคซีนไม่เป็นเงื่อนไขในการไปโรงเรียน” นพ.ธเรศกล่าว

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า วัคซีนดังกล่าวสามารถให้พร้อมกับวัคซีนอื่นๆ ในวันเดียวกันได้ หรือห่างกันเท่าใดก็ได้ สำหรับข้อกังวลเรื่องผลข้างเคียง สหรัฐอเมริกามีการฉีดและติดตามล้านกว่าโดส พบว่ามีผลข้างเคียงน้อยกว่าเด็กโต ไม่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรงถึงเสียชีวิต ถือว่าปลอดภัยสำหรับเด็กเล็กและยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะ MIS-C จากการติดเชื้อด้วย โดยขณะนี้กรมควบคุมโรค ได้จัดส่งวัคซีนไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง เพื่อให้กระจายต่อในพื้นที่ตามจำนวนที่มีการแจ้งความประสงค์ ขอเชิญผู้ปกครองที่สนใจพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ ณ สถานพยาบาลทั่วประเทศ ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกรุงเทพมหานครกำหนด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หมอยง’ สะท้อนความรู้สึกโควิด-19 ปีที่ 2 'ยุ่งเหยิง-ดราม่าวัคซีน-เซียนคีย์บอร์ด'

หลังการระบาดใหญ่ทั่วโลก ในปีแรก ทุกคนมุ่งหวัง ที่จะยุติการระบาดด้วยวัคซีน จึงมีการผลิตคิดค้นวัคซีนกันมากมาย มากกว่า 10 platform