‘หมอยง’ แจงยิบการเลือกชนิดวัคซีนเข็มแรก เข็มสอง ระยะห่างบูสเตอร์โดส ชี้เริ่มต้นด้วย mRNA ตัวเลือกกระตุ้นมีไม่มาก ห่วงให้ซ้ำหลายครั้งในเด็ก เสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
12 พ.ย. 2564 – ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด-19 วัคซีน ระยะเวลา ระยะห่าง ของการกระตุ้น และจะให้วัคซีนอะไรดี
ขณะนี้มีคำถามเข้ามามาก เกี่ยวกับการฉีดวัคซีน เข็ม 1 เข็ม 2 เข็ม 3 จะใช้อะไร จะฉีดเมื่อไหร่
หลักการของวิชาในวัคซีน ต้องทำความเข้าใจ การให้วัคซีนเข็มแรก หรือชุดแรก ถือเป็นการปูพื้น prime การให้ในเข็มต่อไป ถือเป็นการกระตุ้น boost ให้ระดับภูมิต้านทานขึ้นสูง
ดังนั้นถ้าคิดว่าให้แค่ 2 เข็มแรกพอ ก็จะถือเข็มแรกเป็นการปูพื้น เข็มที่ 2 จะถือเป็นการกระตุ้น
ถ้าให้ 3 เข็ม โดยชุดแรก 2 เข็ม ให้ใกล้กันเช่นห่างกัน 3-4 สัปดาห์ 2 เข็มแรก หรือชุดแรกถือเป็นการปูพื้น prime และเข็ม 3 ถือเป็นการกระตุ้น
ระยะห่างของการปูพื้น และการกระตุ้น ยิ่งห่างยิ่งดี แต่ถ้าห่างเกินไปภูมิต้านทานลดลงก่อนกระตุ้น ก็จะเกิดการติดเชื้อแทรกขึ้นมาได้ เช่นถ้าการให้ 2 เข็ม ที่ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้น จะสู้ 2 เข็มที่ห่างมากกว่า 3-4 สัปดาห์ไม่ได้ ตัวอย่างเห็นได้ชัด ในวัคซีน AstraZeneca สามารถให้ได้ห่าง 4 – 12 สัปดาห์ การให้ห่าง 8 หรือ 16 สัปดาห์ ภูมิต้านทานจะดีกว่าให้ห่างกันที่ 4 สัปดาห์ เช่นเดียวกันกับวัคซีนตัวอื่น ในโรคที่มีความรุนแรง เช่นพิษสุนัขบ้า เราจึงต้องให้เป็นชุดมีความถี่ (ให้ถึง 5 เข็มโดยเข็มแรกๆ จะถี่ เข็มหลังๆ จะห่างขึ้น) เพื่อมั่นใจในเรื่องของภูมิต้านทานในการป้องกันโรค หรือในภาวะที่มีการระบาดของโรคอย่างรุนแรง ระยะห่างของ 2 เข็มแรก ควรจะเข้ามาใกล้กัน
การให้วัคซีนสลับก็เช่นเดียวกัน ถ้าเข็มแรกถือว่าเป็นการปูพื้น prime เข็มที่ 2 ถือว่าเป็นการกระตุ้น โดยหลักการ ยิ่งห่างยิ่งดี แต่ถ้าห่างเกินไปก็จะเกิดการติดโรคเสียก่อน
การกระตุ้นเข็ม 3 ก็เหมือนกัน การให้วัคซีนชุดแรก 2 เข็ม ถือเป็นการปูพื้น prime การกระตุ้นเข็ม 3 ถือเป็น boost ระยะห่างก็จะมีความหมายเช่นเดียวกัน ทำไมไวรัสตับอักเสบ บี ให้ 3 เข็มหรือไวรัสตับอักเสบ เอ ให้ 2 เข็ม เข็มที่เป็นเข็มกระตุ้น คือเข็ม 3 (ไวรัสตับอักเสบบี) หรือ เข็ม 2 ในไวรัสตับอักเสบเอ จึงต้องห่างไปถึง 6 ถึง 12 เดือนถึงจะดี แต่ถ้าห่างเกินไปอาจจะทำให้เกิดโรคเมื่อภูมิชุดแรกลดลง
ในการเลือกชนิดของวัคซีนใน covid-19
วัคซีนเชื้อตายจะเป็นวัคซีนปูพื้นที่ดี ไม่เหมาะเป็นวัคซีนกระตุ้น เชื้อตายใช้ไวรัสทั้งตัว การปูพื้นเหมือนเป็นการจำลองการติดเชื้อ ขณะนี้ทางตะวันตกก็พัฒนาวัคซีนเชื้อตาย เช่นของฝรั่งเศส ที่ใกล้ออกมาแล้ว คือวัคซีน Valneva ผ่านระยะที่ 3 และกำลังขอขึ้นทะเบียนในยุโรป ที่ประเทศในยุโรปให้ความสนใจ
วัคซีนไวรัสเวกเตอร์ หรือ mRNA จะเหมาะเป็นวัคซีนกระตุ้น และการกระตุ้นจะต้องเว้นระยะห่างพอสมควร
ดังนั้น ถ้าเราปูพื้นด้วยไวรัส Vector หรือ mRNA ตัวเลือกในการกระตุ้น มีไม่มาก เพราะรู้ดีว่าการให้ไวรัส Vector ถึง 2 ครั้งแล้ว จะมีภูมิต้านทาน ต่อตัวเวกเตอร์ที่ทำมาจากไวรัสเช่นเดียวกัน (adenovirus) การให้ซ้ำหลายครั้งจะกระตุ้นภูมิต้านทานได้ไม่ดี เข็มกระตุ้นของไวรัสเวกเตอร์ ควรเป็น mRNA
การให้ mRNA หลายครั้ง เราทราบดีว่า การให้เข็มที่ 2 อาการข้างเคียงจะมากกว่าเข็มแรก โดยเฉพาะการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มักเกิดในเข็มที่ 2 ที่พบในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่ ไม่มีใครบอกได้ว่าเข็มที่ 3 จะเกิดเพิ่มมากขึ้นอีก?? แต่โดยหลักการก็พึงต้องระวัง โดยเฉพาะในเด็กหรือผู้มีอายุน้อย
จากข้อสรุปทั้งหมดจะเห็นว่า การเริ่มต้นด้วย mRNA แล้วจะหาวัคซีนชนิดอื่นกระตุ้นได้ยาก การเริ่มต้นด้วยไวรัสเวกเตอร์ ยังสามารถใช้ mRNA เป็นตัวกระตุ้น การใช้วัคซีนเชื้อตายเริ่มต้นปูพื้น สามารถใช้ได้ทั้งไวรัส Vector กระตุ้น หรือต่อไปจะใช้ mRNA กระตุ้นได้อีก
covid-19 ยังคงอยู่กับเราอีกนาน และเชื่อว่ามีความจำเป็นต้องกระตุ้น และเมื่อกระตุ้นเข็ม 3 แล้ว อาจจะยังต้องมีเข็มที่ 4 ที่ 5 ในปีต่อๆ ไป โดยระยะเวลาในการใช้กระตุ้นครั้งต่อไปก็คงต้องยาวนานออกไปอีก
ทั้งหมดนี้ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมทั้งนั้น เพราะโรคนี้เป็นเรื่องใหม่หมด
ขณะนี้ทางศูนย์ไวรัสที่ทำอยู่จึงจำเป็นที่จะต้องหารูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย จึงทำให้มีการศึกษาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ในระยะนี้จะเห็นประกาศการรับอาสาสมัครต่อไปอีกจนถึงสิ้นปี
ต้องขอขอบคุณอาสาสมัคร เป็นอย่างยิ่งที่จะให้ได้คำตอบ และนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์ ความคุ้มค่าสูงสุด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอยง' เผยสถาการณ์โควิดเปลี่ยนไปมากคำแนะนำก็ต้องเปลี่ยนตาม
ศ.นพ.ยง ภู่รวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก
'คารม' บอกรัฐบาลเฝ้าระวังโรคไอกรนใกล้ชิดผู้ปกครองไม่ต้องห่วง
'คารม' เผยรัฐบาลร่วมบูรณาการเฝ้าระวังโรคไอกรนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในโรงเรียน เน้นย้ำเฝ้าระวัง ติดตามอย่างเข้มงวด ป้องกันการแพร่ระบาด ขอผู้ปกครองอย่าเป็นกังวล
ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 549 ราย ดับเพิ่ม 1 คน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2567
'หมอยง' แนะแนวทางแก้ไขหลุดพ้นจากกับดักผลงานวิชาการ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก