30 ก.ย. 2565 – ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Center for Medical Genomics” ว่า โควิดเจเนอเรชัน 3 “โอมิครอน BA.2.75.2” พบแล้วในไทยรวม 4 ราย “โอมิครอน BQ.1.1” เหลนของ BA.5 พบทั่วโลกเพิ่มเป็น 228 ราย
เราจะยังสามารถควบคุม (control) จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ และผู้เสียชีวิต ยังจะสามารถกำจัด (elimination) และในที่สุดกวาดล้าง (eradication) ไวรัสโคโรนา 2019 ให้หมดไปจากประเทศไทยและจากโลกได้หรือไม่?
จากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก “GISAID” พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75.2 ในประเทศไทยเพิ่มรวมเป็น 4 ราย โดยทั่วโลกพบเพิ่มเป็น 729 ราย
โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75.2 ที่มีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมจาก BA.5 บนส่วนหนามถึง 13 ตำแหน่ง โอไมครอน BA.2.75.2 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) ประมาณ 71% เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์ BA.5 ที่ระบาดอยู่ทั่วโลกในปัจจุบัน
จากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก “GISAID” ยังไม่พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BQ.1.1 ในประเทศไทยแต่ทั่วโลกพบเพิ่มเป็น 228 ราย
โอมิครอน BQ.1.1 ทั่วโลกเพิ่มจาก 136 ราย เมื่อ 7 วันก่อน เป็น 228 ราย BQ.1.1 เป็นเหลนของโอมิครอน BA.5 ซึ่งมีการกลายพันธุ์ 3 ตำแหน่งสำคัญบนส่วนหนามคือ R346T, K444T, และ N460K
การกลายพันธุ์ตำแหน่ง N460K ของส่วนหนาม ช่วยให้อนุภาคไวรัสเข้าจับกับผิวเซลล์มนุษย์ (ACE2) ได้ดีเพื่อแทรกเข้าภายในเซลล์เพื่อเพิ่มจำนวน ในขณะที่ การกลายพันธุ์ตำแหน่ง R346T และ K444T ช่วยหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันเป็นเลิศ ส่งผลให้ดื้อต่อแอนติบอดีสำเร็จรูปทุกชนิดที่องค์การอาหารและยาสหรัฐ ให้ใช้ได้ รวมทั้งแอนติบอดีค็อกเทลอย่าง “เอวูเชลด์ (Evusheld” และ “เบบเทโลวิแมบ (Bebtelovimab)”
คงต้องเฝ้าติดตามในช่วงย่างเข้าฤดูหนาวของทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 เป็นต้นไป เมื่อประชาชนหลบอยู่ในบ้าน และอาคารเนื่องจากอากาศหนาว และไม่สวมหน้ากากอนามัยและไม่เว้นระยะห่างทางสังคมเนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ จะก่อให้เกิดการระบาดของโอมิครอน BA.2.75.2 หรือ BQ.1.1 หรือไม่ หรือ BA.5 ยังคงระบาดครอบคลุมพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ไม่เปิดโอกาสให้โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่มีการกลายพันธุ์ไปมากกว่าสามารถเข้ามาแทนที่ได้ และถูกกำจัด (elimination) ไปด้วยวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือภูมิที่ได้รับจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ
องค์การอนามัยโลกมีขั้นตอนการกวาดล้างโรคติดต่อที่เกิดกับมนุษย์และมีการระบาดไปทั่วโลกที่ควบคุมไม่ได้ (pandemic) อย่างไวรัสโคโรนา 2019 ดังนี้
1.โดยการป้องกัน (Prevention): เช่น สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม ตรวจ ATK ตรวจ PCR ตรวจหาสายพันธุ์ “Genotyping” รวมทั้งการถอดรหัสพันธุกรรม (ไวรัสและผู้ติดเชื้อ) ช่วยติดตามการระบาด ช่วยพัฒนาวัคซีน ยา แอนติบอดีสำเร็จรูปมาใช้อย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ ให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ผ่านสื่อสารมวลชนถึงประชาชนในรูปแบบดิจิทัล (digital health literacy) เพื่อให้ประชาชนเกิดปัญญาตระหนักรู้ สามารถตัดสินใจป้องกัน ดูแล และรักษาได้ด้วยตนเอง
2.การควบคุม (Control): จากการดำเนินงานการป้องกันในข้อหนึ่งอย่างเข้มข้นมาตลอดเกือบ 3 ปีทำให้เราสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลงได้ในระดับที่ระบบสาธารณสุขของประเทศจากการร่วมมือของภาครัฐ ภาคประชาชน เอกชน และ NGO สามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ และผู้เสียชีวิตลงได้ ประเทศไทยรวมสามปีมีอัตราผู้เสียชีวิตจากโควิดร้อยละ 0.7 ในขณะนี้ทั้งโลกมีอัตราผู้เสียชีวิตด้วยโควิด-19 ร้อยละหนึ่ง (ภาพ7)
โรคโควิด-19 ในปัจจุบันมีลักษณะเช่นเดียวกับโรคมาลาเรีย ที่เราทำได้เพียงควบคุมการระบาดยังไม่สามารถกำจัด (Elimination) หรือกวาดล้างให้หมดไปจากโลกได้ (eradication) ในกรณีของมาลาเรียเป็นเพราะโรคนี้มียุงเป็นพาหะ เราไม่สามารถกำจัดยุงให้หมดไปจากโลกได้ ส่วนกรณีไวรัสโคโรนา-2019 ยังไม่สามารถกำจัด และกวาดล้างให้หมดไปจากโลกได้เพราะไวรัสมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง และมีสัตว์เป็นพาหะร่วม
3.การกําจัด (Elimination): เมื่อเราควบคุมการติดต่อจะช่วยให้สามารถหยุดยั้งการระบาดได้ในบางพื้นที่ เช่น โปลิโอ (ขณะนี้พบบางประเทศเท่านั้น เช่น ปากีสถาน และ อัฟกานิสถานที่ยังมีการระบาดประปราย)
4.การกวาดล้าง (Eradication): การกวาดล้างให้โรคติดเชื้อไวรัสให้หมดไปจากโลกขณะนี้เราทำสำเร็จไปเพียงโรคเดียวในมนุษย์คือโรค “ฝีดาษ (smallpox)” ที่ติดต่อโดยเชื้อไวรัสวาริโอลา (Variola Virus) ซึ่งการกลายพันธุ์เพื่อเปลี่ยนแปลงเปลือกนอกของไวรัสวาริโอลา เพื่อหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันแทบไม่เกิดขึ้นเลยในช่วงร้อยปีที่ผ่านมา ทำให้การปลูกฝีดาษเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ผลดี ปลูกฝีเพียงครั้งเดียว ป้องกันการการติดโรคฝีดาษได้ตลอดชีพ ในกรณีของไวรัสโคโรนา 2019 อาจถูกกวาดล้างลงได้เช่นเดียวกันเมื่อมีการพัฒนาวัคซีนประเภท “Universal covid-19 vaccine” ซึ่งสามารถจับกับอนุภาคไวรัสโคโรนา-2019 ที่เข้ามารุกรานร่างกายของเราได้ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ไหนเก่าและใหม่ได้สำเร็จ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน
ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 549 ราย ดับเพิ่ม 1 คน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2567
โควิดกลับมาระบาดใหม่ ‘หมอมนูญ’ ขออย่าตื่นตระหนก รักษาตามอาการหายได้
เวลาผ่านไปโรคโควิดลดความรุนแรงลง โรคโควิดไม่น่ากลัวหมือนเมื่อ 3-4 ปีก่อน คนไทยไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจกลัวโรคโควิดมากเกินไป
สายการบิน 'ลุฟท์ฮันซา' ต้องจ่ายค่าปรับกรณีเลือกปฏิบัติต่อผู้โดยสารชาวยิว
สายการบินลุฟท์ฮันซาต้องจ่ายค่าปรับจำนวน 4 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกา เหตุเพราะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดขอ