'หมอธีระ' เปิดตัวเลขเสียชีวิตส่วนเกินจากโควิด ชี้ไทยสังเวยแล้วกว่าแสนราย! พร้อมอัพเดต Long COVID ยกผลวิจัยมะกันส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด
21 ก.ย.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการ์โควิดประจำวันที่ 21 กันยายน 2565 ว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 353,427 คน ตายเพิ่ม 776 คน รวมแล้วติดไป 617,901,056 คน เสียชีวิตรวม 6,532,786 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ รัสเซีย ไต้หวัน และญี่ปุ่น เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 19 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 93.62 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 73.32
...สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 13 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย แม้ สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
...สถิติการเสียชีวิต หากดูข้อมูลจาก Ourworldindata จะเห็นสถานการณ์ตัวชี้วัดหนึ่งที่เป็นที่สนใจของทั่วโลกคือ จำนวนการเสียชีวิตส่วนเกิน (excess deaths) ที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดการระบาด เพราะจะสะท้อนผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงต่อสังคม ทั้งจากการที่การติดเชื้อโรคโควิด-19 ทำให้โรคประจำตัวของผู้ป่วยแย่ลงจนเสียชีวิต และจากการที่ปัญหาโรคระบาดทำให้การเข้าถึงบริการดูแลรักษาโรคต่างๆ ลำบากมากขึ้น หากจำนวนการเสียชีวิตส่วนเกินเกิดขึ้นมาก ย่อมทำให้เกิดความสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ของแต่ละประเทศ และมีผลต่อดัชนีชี้วัดสุขภาพโดยรวม เช่น อายุขัยเฉลี่ยที่ลดลงของประชากร ดังที่เห็นข้อมูลจากบางประเทศว่าได้รับผลกระทบชัดเจน
ข้อมูลของ Ourworldindata ระบุว่านับตั้งแต่ระบาดมาจนถึงปลายสิงหาคม 2565 ไทยมี excess deaths ไปแล้ว 119,408 ราย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตจากโควิดที่รายงานในระบบจนถึง 19 กันยายน 2565 นั้นมีราว 32,655 ราย
ทั้งนี้หากประเมินจำนวนการเสียชีวิตส่วนเกินต่อประชากรล้านคนในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาของประเทศต่างๆ ก็สะท้อนให้เห็นว่าในยุค Omicron ระบาดตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมานั้นดูสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก รวมถึงไทยเราด้วย
ข้อมูลข้างต้นทำให้เราอาจต้องฉุกคิด วิเคราะห์หาสาเหตุ ว่าเป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขประเทศสิงคโปร์ได้ชี้ให้เห็นไว้ว่า การติดเชื้อนั้นอาจส่งผลให้โรคประจำตัวของผู้ป่วยแย่ลงและนำไปสู่การเสียชีวิต เพราะทางสิงคโปร์ระบุว่าเมื่อวิเคราะห์ในกลุ่มที่ไม่ได้มีประวัติติดเชื้อ พบว่าไม่มีอัตราการเสียชีวิตส่วนเกินเกิดขึ้น หรือจะมีสาเหตุอื่นๆ ที่จะอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว ด้วยสถานะปัจจุบัน จึงเป็นการดีที่ประชาชนควรตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันตัว ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
...อัพเดต Long COVID (Post COVID conditions) เมื่อคืนนี้ US CDC จัด Webinar เรื่อง Long COVID ที่ส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด และชี้ให้เห็นว่า หลังติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้น เกิดปัญหาผิดปกติได้ในหลากหลายระบบของร่างกาย ทั้งหัวใจและหลอดเลือด ทางเดินอาหาร ระบบหายใจ ระบบประสาท และอื่นๆ
ปัญหา Long COVID ที่เกิดกับระบบหัวใจและหลอดเลือดนั้น เกิดได้ทั้งคนที่ติดเชื้อจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล รวมถึงคนที่ติดเชื้อแล้วอาการน้อย ความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหานั้นมากกว่าคนไม่ติดเชื้อ แม้ว่าจะผ่านไปเป็นปีก็ตาม ดังนั้นผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อน ไม่ว่าจะมีอาการน้อยหรือรุนแรงก็ตาม ควรหมั่นประเมินสุขภาพของตนเอง หากมีอาการผิดปกติต่างจากอดีต ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และให้การดูแลตั้งแต่เนิ่นๆ
...ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวเสมอ ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มากครับ ความใส่ใจสุขภาพ หรือ Health consciousness นั้นมีความสำคัญ
อ้างอิง
Evaluating and Supporting Patients Presenting with Cardiovascular Symptoms Following COVID. US CDC. 20 September 2022.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดพิกัดเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนในจุฬาฯ
ปีนี้งาน Night Museum at Chula เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดภายใต้แนวคิด “เสน่ห์ Science” ชูเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัวเรา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและเป็นแรงขับเคลื่อนทุกย่างก้าวของคนในปัจจุบัน
'หมอยง' หวนระลึกโควิด19 ปีที่สองของการระบาด!
ศ.นพ.ยง ภู่รวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์
'หมอยง' ไขข้อข้องใจโรคไอกรนที่แพร่ระบาดหนักช่วงนี้
ศ.ดร.ยง ภู่รวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์