ผงะ! ยุโรปประเมิน 17 ล้านคนใน 53 ประเทศเจอ Long COVID แล้ว

หมอธีระเผยอนามัยโลกยุโรปประเมินเกิด Long COVID แล้วใน 53 ประเทศ อย่างน้อย 17 ล้านคน ส่วน WHO เตือนแต่ละประเทศวางแผนรับมือปัญหาให้จริงจัง

14 ก.ย.2565 - นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 14 กันยายน 2565 ว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 373,989 คน ตายเพิ่ม 1,035 คน รวมแล้วติดไป 614,587,375 คน เสียชีวิตรวม 6,519,058 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน รัสเซีย และฝรั่งเศส

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 18 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 91.38 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 69.66

...สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 16 ของโลก และอันดับ 7 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

...Update Long COVID
ล่าสุดทางองค์การอนามัยโลก ภูมิภาคยุโรป ได้ออกประกาศเมื่อวานนี้ 13 กันยายน 2565 สาระสำคัญคือ ประเมินว่าตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2564 มีผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 แล้วประสบปัญหา Long COVID ใน 53 ประเทศ อย่างน้อย 17 ล้านคน ซึ่งคาดว่ามีจำนวนไม่น้อยที่จะมีอาการผิดปกติยาวนาน

ทางองค์การอนามัยโลกได้เตือนให้แต่ละประเทศวางแผนรับมือปัญหา Long COVID อย่างจริงจัง และลงทุนทรัพยากรเพื่อทำการศึกษาวิจัย และจัดระบบบริการดูแลรักษาและฟื้นฟูสภาพให้แก่ผู้ป่วยที่เป็น Long COVID
ทั้งนี้ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Long COVID หลังจากติดเชื้อนั้น จะมากขึ้นหากติดเชื้อแล้วป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาล, เพศหญิงพบเกิดภาวะ Long COVID ได้ราวหนึ่งในสาม และเพศชายพบได้ราวหนึ่งในห้า

...ความรู้ทางการแพทย์จากงานวิจัยทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมานั้น ทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับ Long COVID มากขึ้น
ทั้งในเรื่องกลไกที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ ซึ่งมีหลักฐานทางการแพทย์สนับสนุน ได้แก่ การตรวจพบเชื้อ และ/หรือชิ้นส่วนของเชื้อไวรัสในเซลล์ของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงในเลือด, เซลล์ของระบบต่างๆ ของร่างกายถูกทำลายจากการติดเชื้อ, การพบสารบ่งชี้กระบวนการอักเสบต่อเนื่องในร่างกาย ตลอดจนการกระตุ้นเชื้อไวรัสอื่นที่มีการติดเชื้อแฝงอยู่ เช่น EBV และ VZV

ผลกระทบที่เกิดขึ้น พบว่าทำให้เกิดความผิดปกติได้ในแทบทุกระบบของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นภาวะติดเชื้อในเซลล์สมอง นำไปสู่ภาวะเนื้อสมองฝ่อ (Cortical atrophy) และความเสื่อมถอยด้านความจำ (Cognitive decline) โดยพบว่าผู้ที่ประสบปัญหาทางสมองนั้น จะมีสมรรถนะการคิดเสื่อมถอยลง จะใช้เวลาในการคิดวิเคราะห์นานขึ้นราว 30%

สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ Omicron ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหา Long COVID ด้านสมอง ระบบประสาท และจิตเวช ไม่ต่างจากเดลตา หรือสายพันธุ์ก่อนหน้า

นอกจากนี้ปัญหาเรื่องหัวใจและหลอดเลือดก็ได้รับการพิสูจน์ให้เห็นว่าพบความเสี่ยงเพิ่มกว่าปกติยาวนานไปถึงอย่างน้อย 12 เดือนหลังติดเชื้อ และอาจนานกว่านั้น

ในขณะเดียวกัน ผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นก็พบว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน สูงขึ้น ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ดังนั้นการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

อ้างอิง
At least 17 million people in the WHO European Region experienced long COVID in the first two years of the pandemic; millions may have to live with it for years to come. WHO. 13 September 2022.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Siamsquare จัดเวที countdown ใหญ่ ให้วงเยาวชนไทยได้เป็นดาว!! ตอกย้ำการเป็นพื้นที่แห่งโอกาสของดาวดวงใหม่ของคนไทยทุกดวง

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมส่งท้ายปี 2024 กับเยาวชนและคนไทย พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) , อาจารย์ ดร.จรัสพัฒน์ พฤกษารัตนวุฒิ ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย