'ดร.อนันต์ 'เผยนักวิจัยญี่ปุ่น สงสัยโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอาจไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ แต่อาจถูกสร้าง

10ก.ย.2565- ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า โควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอนอาจไม่ได้เกิดจากธรรมชาติดังนี้

นักวิจัยชาวญี่ปุ่น 2 ท่าน ส่งงานเขียนเข้าตีพิมพ์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จู่ๆไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนก็อุบัติขึ้นมาพร้อมกับการกลายพันธุ์แบบเยอะมาก อาจจะไม่ได้เกิดจากการที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา (ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าด้วยกลไกใด) แต่อาจจะเป็นไวรัสที่ออกแบบสร้างมาจากไวรัสสายพันธุ์ก่อนหน้าโอมิครอนแล้วปรับการเปลี่ยนสไปค์ให้มีคุณสมบัติเป็นโอมิครอน ซึ่งแตกต่างจากสายพันธุ์รุ่นเก่าอย่างมีนัยสำคัญ

นักวิจัย 2 ท่าน ดูการกลายพันธุ์ของไวรัสโอมิครอนโดยเฉพาะตำแหน่งสไปค์ พบว่า มีถึง 29 คำแหน่งที่เป็น non-synonymous mutation คือ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนเป็นกรดอะมิโนตัวใหม่ และ มีแค่ตำแหน่งเดียวที่เป็น synonymous คือ เปลี่ยนเบสแต่กรดอะมิโนอ่านได้เป็นตัวเดิม ซึ่งเค้ามองว่าเกิดขึ้นได้ยากมาก ทั้งคู่ได้คำนวณด้วยสูตรคณิตศาสตร์แบบเชิงลึก ที่เกินความสามารถที่ผมจะเข้าใจ แต่ได้ตัวเลขออกมาว่า การเกิดปรากฏการณ์ของโอมิครอนได้ตามธรรมชาติจริงความน่าจะเป็นจะอยู่ที่ 0.0016 ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่า มันเกิดขึ้นได้ยากมากๆ

ทีมวิจัยยังให้ความเห็นว่า ไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงในผู้ป่วยที่ติดโควิดนานๆ แล้วบ่มเพาะในผู้ป่วยรายนั้น สูงสุดที่เคยค้นพบคือ การเกิดการเปลี่ยนเบสแบบ non-synonymous แบบ 8 ตำแหน่ง ถ้าลงในสูตรที่คำนวณได้จะมีความน่าจะเป็นที่ 0.095 ซึ่งยังสูงกว่าโอกาสการเกิดโอมิครอนมาก

แนวคิดนี้น่าสนใจถึงแม้ว่าจะไม่สามารถได้ข้อสรุปอะไรชัดเจนจากหลักฐานดังกล่าว ถ้ามองในมุมของนักไวรัสวิทยา ทางเทคนิคเห็นด้วยว่า เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถสร้างไวรัสจากโควิดตัวเริ่มต้นให้เป็นแบบโอมิครอนได้จริงๆครับ ประเด็นคือ ถ้าเป็นจริง การอุบัติขึ้นของโอมิครอนอาจจะเกิดจากความตั้งใจ หรือ ไม่ตั้งใจ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก การสรุปอะไรไปอาจส่งผลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ การสื่อสารตามหลักฐานที่มีแบบไม่ใส่ความคิดเห็นเกินไป จึงสำคัญมากๆ
https://zenodo.org/record/6904363#.YxwAtHZByUk

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พบข้อมูล ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ถ้าติดเชื้อ ฝีดาษลิง พบเสี่ยงเสียชีวิตสูงถึง 27%

อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)