2 ก.ย. 2565 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 496,391 คน ตายเพิ่ม 1,307 คน รวมแล้วติดไป 608,462,390 คน เสียชีวิตรวม 6,497,437 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 87.08 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 71.38
…สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 14 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย แม้ สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
…อัปเดตความรู้โรคโควิด-19
1.”BA.2.75 ดื้อต่อภูมิคุ้มกันพอๆ กับ BA.5″
หากจำกันได้ Omicron BA.2.75 ที่ค้นพบครั้งแรกในอินเดีย และค่อยๆ กระจายไปหลายประเทศทั่วโลกนั้น ได้รับการจับตามองใกล้ชิด คาดการณ์ว่าอาจมาแทนที่ BA.5 ที่ครองการระบาดทั่วโลกในปัจจุบัน เพราะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ
ข่าวดีเล็กๆ มาจากการวิจัยล่าสุดของทีมงานจาก Karolinska Institutet ประเทศสวีเดน เผยแพร่ในวารสารการแพทย์โรคติดเชื้อ The Lancet Infectious Diseases เมื่อวานนี้
สาระสำคัญคือ การพิสูจน์ให้เห็นว่า BA.2.75 นั้นมีลักษณะการดื้อต่อภูมิคุ้มกันไม่แตกต่างจาก BA.5 (การที่ไม่ดื้อกว่า BA.5 ถือเป็นข่าวดี) และยาแอนติบอดี้บางชนิดที่มีใช้ในปัจจุบันยังใช้ได้ผลในการรักษา เช่น bebtelovimab, tixagevimab, และ cilgavimab
อย่างไรก็ตาม สมรรถนะการแพร่เชื้อของ BA.2.75 ที่ดูจะมากกว่าสายพันธุ์เดิมๆ ที่ระบาดอยู่นั้น ก็ย่อมนำไปสู่การติดเชื้อในคนจำนวนมากได้ ทั้งที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน และการติดเชื้อซ้ำ จึงต้องไม่ประมาท ป้องกันตัวสม่ำเสมอ
2.”ประสิทธิภาพของวัคซีนในช่วง BA.5 จะลดลงกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า”
ข้อมูลล่าสุดจาก US CDC นำเสนอในคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวัคซีน (ACIP) เมื่อวานนี้ 1 กันยายน 2565
ชี้ให้เห็นว่า ประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลของวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นลดลงอย่างชัดเจนในช่วงที่มี BA.4/BA.5 เมื่อเทียบกับช่วง BA.2 ที่ระบาดมาก่อน
ข้อมูลข้างต้นนี้สะท้อนให้เราตระหนักถึงความสำคัญของพฤติกรรมการป้องกันตัวในชีวิตประจำวัน และความจำเป็นที่จะต้องมีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยหน่วยงานระดับนโยบายควรพิจารณาเรื่องการนำวัคซีนที่จำเพาะต่อสายพันธุ์ที่ระบาดมาใช้ในการควบคุมป้องกันโรคด้วย
3.Update Long COVID ในสหราชอาณาจักร
Office for National Statistics ได้ออกรายงานสถานการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับ Long COVID เมื่อ 1 กันยายน 2565
จากการสำรวจจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2565 พบว่าในสหราชอาณาจักรมีผู้ป่วยที่ประสบปัญหา Long COVID ราว 2 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนราว 3.1% ของประชากรทั้งหมด
มีผู้ป่วยถึง 1.7 ล้านคน ประสบปัญหามายาวนานอย่างน้อย 12 สัปดาห์ (3 เดือน) 892,000 คน (ราวครึ่งหนึ่ง) มีปัญหามานานกว่า 1 ปี และ 429,000 คน (ราวหนึ่งในห้า) ที่มีปัญหามายาวนานติดต่อกันกว่า 2 ปี
ที่สำคัญ หากพิจารณาจำนวนผู้ป่วยที่รายงานว่าเป็น Long COVID นั้น มีจำนวนถึง 681,000 (34%) ที่ติดเชื้อในช่วง Omicron ระบาด
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเป็น Long COVID นั้น พบว่า มีราว 1.5 ล้านคน หรือ 73% ที่รายงานว่าส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน โดยที่มี 384,000 คน (ราวหนึ่งในห้าของจำนวนผู้เป็น Long COVID ทั้งหมด) รายงานว่ากระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันอย่างมาก
ข้อมูลจาก ONS UK ข้างต้นนั้น แสดงให้เราเห็นว่า Omicron ก็ส่งผลให้เกิดปัญหา Long COVID จำนวนมากในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนที่สูง และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยอย่างชัดเจน นอกจากนี้ Long COVID จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ ตามมาได้ด้วยดังที่มีงานวิจัยทั่วโลกได้ชี้ให้เห็น
การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด …สถานการณ์ไทยเรายังมีการระบาดจำนวนมากในแต่ละวัน ขอให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
อ้างอิง
1.Sheward DJ et al. Evasion of neutralising antibodies by omicron sublineage BA.2.75. The Lancet Infectious Diseases. 1 September 2022.
2.Link-Gelles R. Updates on COVID-19 Vaccine Effectiveness during Omicron. ACIP. 1 September 2022.
3.Prevalence of ongoing symptoms following coronavirus (COVID-19) infection in the UK: 1 September 2022. Office for National Statistics, UK.
4.Shaffer L et al. Lots of long COVID treatment leads, but few are proven. PNAS. 1 September 2022.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'สมศักดิ์' ฟุ้งปีหน้า 'รัฐบาลอิ๊งค์' ฉลุย อีก 2 ปีครึ่ง พท. กลับมายิ่งใหญ่
'สมศักดิ์' มองทิศทางการเมืองปี 68 มั่นใจรัฐบาลแพทองธาร เดินไปได้ไร้ปัญหาสะดุดล้ม พรรคร่วมไม่ถึงขั้นแตกหัก ฟุ้งอีก 2 ปีครึ่ง เพื่อไทยกลับมายิ่งใหญ่
โควิดพุ่ง! ติดเชื้อใหม่รอบสัปดาห์ 3,039 ราย ดับ 1 คน 'เชียงใหม่' ป่วยสูงสุด
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 22 - 28 ธันวาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่
'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน