26 ส.ค. 2565 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 631,116 คน ตายเพิ่ม 1,482 คน รวมแล้วติดไป 603,850,279 คน เสียชีวิตรวม 6,481,733 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 85.54 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 65.31
…สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 15 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
…อัปเดตสถานการณ์จาก WHO จากรายงานล่าสุด WHO Weekly Epidemiological Update ขององค์การอนามัยโลก วันที่ 24 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.5 นั้นครองการระบาดทั่วโลก โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากเดิม 71% เป็น 74%
ทั้งนี้หากวิเคราะห์ในสายพันธุ์ย่อย BA.5 จะพบว่าการระบาดในปัจจุบันมีหลากหลายโดย 3 ตัวหลักได้แก่ BA.5.1, BA.5.2 และ BA.5.2.1 ในสัดส่วนพอๆ กันราว 20+% นอกจากสายพันธุ์ย่อย BA.5 แล้ว สายพันธุ์อื่นๆ มีแนวโน้มลดลง อาทิ BA.2 เหลือเพียง 5.6% และ BA.4 เหลือ 6.1%
ในขณะที่สายพันธุ์ BF.7 หรือที่รู้จักในนาม BA.5.2.1.7 นั้นอยู่ในการจับตามอง เนื่องจากมีอัตราเพิ่มขึ้นจากเดิม 11% เป็น 14%
…Long COVID ในสวิสเซอร์แลนด์ Nehme M และคณะ จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ได้เผยแพร่ผลการวิจัยในวารสารการวิทยาศาสตร์การแพทย์ Scientific Reports เมื่อวานนี้ 25 สิงหาคม 2565
โดยทำการศึกษาในประชากรวัยผู้ใหญ่จำนวน 1,383 คน อายุเฉลี่ย 44.3 ปี (±13.4 ปี) เป็นเพศหญิงราว 60% และราวครึ่งหนึ่งไม่มีประวัติโรคประจำตัว ทั้งนี้ได้ทำการประเมินติดตามอาการ ณ 7 และ 15 เดือน าระสำคัญพบว่า มี 767 คนที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 และมีถึง 37% ที่ประสบปัญหา Long COVID โดยมีอาการคงค้างหรือผิดปกติ ณ 7 เดือนหลังจากติดเชื้อ
ในผู้ป่วยที่ประสบปัญหา Long COVID หากติดตาม ณ 15 เดือน พบว่า 47.9% หายจากการป่วย แต่ทีเหลืออีก 52.1% ยังคงมีอาการผิดปกติเรื้อรัง ทั้งนี้ในกลุ่มที่มีอาการคงค้างเรื้อรังจะมีอัตราการต้องรับการดูแลรักษาพยาบาลมากกว่า โดยมีผลกระทบต่อสมรรถนะการดำรงชีวิตประจำวัน และมีคุณภาพชีวิตที่แย่กว่า
งานวิจัยนี้ยังชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการเกิดปัญหา Long COVID ระยะยาว ได้แก่ การที่มีอาการป่วยหลายอาการตอนพบว่าติดเชื้อ และการที่ประสบปัญหาไม่มีสมาธิ ณ 7 เดือน
…ผลกระทบของ Long COVID ต่อการทำงาน ข้อมูลล่าสุดจาก Brookings Institution เมื่อ 24 สิงหาคม 2565 ได้ทำการประเมินผลกระทบของ Long COVID ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ปัจจุบันจะมีประชากรวัย 18-65 ปี จำนวนประมาณ 16 ล้านคนที่กำลังประสบปัญหา Long COVID โดย 2-4 ล้านคนไม่สามารถทำงานได้ คิดเป็นความสูญเสียจากการขาดรายได้ที่สูงถึง 170,000 ล้านเหรียญต่อปี
แม้ข้อมูลข้างต้นเป็นการประเมินระดับมหภาค แต่สำหรับไทยเราซึ่งมีจำนวนการติดเชื้อที่ผ่านมาในระดับสูงมากนั้น ควรตระหนักถึงความสำคัญของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจาก Long COVID ด้วยทั้งต่อระดับประเทศ ระดับกิจการห้างร้าน ครอบครัว และระดับบุคคล ไม่ใช่แค่งานที่ใช้แรงงาน แต่รวมถึงงานที่ต้องใช้สมองและทักษะด้วย
…ข้อมูลทางการแพทย์จากการศึกษาวิจัยทั่วโลกในปัจจุบันนั้นฟันธงให้เห็นชัดเจนว่า Long COVID is real เกิดปัญหาจากหลายกลไก ทั้งเรื่องการติดเชื้อเรื้อรังหรือการคงค้างของชิ้นส่วนไวรัสในร่างกาย, กระบวนการอักเสบเรื้อรัง, การทำงานผิดปกติของเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายจากการถูกทำลายภายหลังการติดเชื้อ ฯลฯ
การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอนะครับ และระมัดระวังเรื่องการกินดื่มร่วมกับผู้อื่น จะช่วยลดความเสี่ยงไปได้มาก
อ้างอิง
1.WHO Weekly Epidemiological Update. WHO. 24 August 2022
2.Nehme M et al. The chronification of post-COVID condition associated with neurocognitive symptoms, functional impairment and increased healthcare utilization. Scientific Reports. 25 August 2022.
3.New data shows long Covid is keeping as many as 4 million people out of work. Brookings Metro. 24 August 2022.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน
ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 549 ราย ดับเพิ่ม 1 คน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2567
โควิดกลับมาระบาดใหม่ ‘หมอมนูญ’ ขออย่าตื่นตระหนก รักษาตามอาการหายได้
เวลาผ่านไปโรคโควิดลดความรุนแรงลง โรคโควิดไม่น่ากลัวหมือนเมื่อ 3-4 ปีก่อน คนไทยไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจกลัวโรคโควิดมากเกินไป
'เส้นเลือดแตกในสมอง' ทำไมพบบ่อยมากและรุนแรงขึ้น
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและสมอง และที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์ตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เส้นเลือดแตกในสมอง