หมอธีระชี้ยอดสังเวยโควิดไทยติดอันดับ 14 ของโลก ยกผลวิจัยเมืองสวิสฯ Long COVID ในเด็ก ระบุช่วงวัยรุ่นจะเจอปัญหามากกว่าเด็กเล็ก
25 ส.ค.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงเรื่องโควิด-19 ประจำวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 656,108 คน ตายเพิ่ม 1,746 คน รวมแล้วติดไป 602,985,345 คน เสียชีวิตรวม 6,478,268 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และไต้หวัน
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 82.49 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 62.77
...สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 14 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย แม้ สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
...อัพเดต Long COVID ในเด็ก Dumont R และคณะ จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ได้เผยแพร่ผลการวิจัยใน medRxiv เมื่อวานนี้ 24 สิงหาคม 2565 โดยศึกษาความชุกของ Long COVID ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 เปรียบเทียบกับคนที่ไม่ติดเชื้อ
สาระสำคัญที่พบคือ เด็กที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 มีปัญหา Long COVID ที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ราว 9.1% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 6.7%-11.8%) ทั้งนี้เด็กวัยรุ่น 12-17 ปี จะพบว่าประสบปัญหา Long COVID มากกว่าเด็กเล็ก อาการผิดปกติที่พบบ่อยได้แก่ ปัญหาด้านการดมกลิ่น การไม่มีสมาธิ และอาการปวดท้อง
ผลการศึกษานี้สะท้อนให้ผู้ปกครองและคุณครูเห็นถึงความสำคัญในการดูแลเด็ก ให้ความรู้ ฝึกทักษะในการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ ปรับสภาพแวดล้อมให้มีการถ่ายเทอากาศที่ดี หากเด็กๆ เคยติดเชื้อมาก่อน ผู้ปกครองก็ควรสังเกต ประเมินสุขภาพของเด็กทั้งด้านกาย อารมณ์ สมาธิ ฯลฯ ถ้าพบสิ่งผิดปกติ จะได้ปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และให้การดูแลรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที
...สถานการณ์ไทยเรานั้น การที่จะประคับประคองให้เรามีสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต จำเป็นต้องมีความใส่ใจด้านสุขภาพ หรือ Health consciousness สภาพแวดล้อมในสังคมระหว่างที่ใช้ชีวิตประจำวันนั้นมีความเสี่ยงมากกว่าในอดีต การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก ไม่ว่าจะทำงาน พบปะ ศึกษาเล่าเรียน และอื่นๆ พยายามเว้นระยะจากกันไว้บ้าง ใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง และพกสเปรย์แอลกอฮอล์ไว้ล้างมือหลังหยิบจับสิ่งของสาธารณะ
ใครที่มีอาการไม่สบาย ควรแจ้งให้คนใกล้ชิดทราบ เลี่ยงการพบปะกับผู้อื่นไปก่อน ก็จะเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมด้วย โควิด-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ ติดแล้ว ป่วยรุนแรงได้ ตายได้ แม้ฉีดวัคซีนมาแล้วหรือเคยติดเชื้อมาก่อนแล้วก็ตาม การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญ
ปัญหาอาการผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID เป็นเรื่องที่ควรตระหนักไว้เสมอ เพราะจะบั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะการใช้ชีวิตและการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อตัวผู้ป่วยเอง ครอบครัว และประเทศ
อ้างอิง
Dumont R et al. Post-COVID syndrome prevalence and risk factors in children and adolescents: A population-based serological study. medRxiv. 24 August 2022
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดพิกัดเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนในจุฬาฯ
ปีนี้งาน Night Museum at Chula เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดภายใต้แนวคิด “เสน่ห์ Science” ชูเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัวเรา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและเป็นแรงขับเคลื่อนทุกย่างก้าวของคนในปัจจุบัน
จุฬาฯ เดินหน้ายุทธศาสตร์ใหม่ สร้าง Siam Square ให้เป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน รวมพลคนพิการโชว์พลังครั้งใหญ่ที่สุด!
อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีม PMCU (สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ) และ มูลนิธิ Five for All เปิดงาน Siam Square Walking Street For All ครั้งแรก! บนพื้นที่ใจกลางสยามสแควร์ ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม
'หมอยง' แนะแนวทางแก้ไขหลุดพ้นจากกับดักผลงานวิชาการ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก