'หมอธีระ' ยกผลวิจัยเมืองผู้ดีเตือนสติอีกระลอก บอกโอมิครอนเสี่ยงต่อปัญหา Long COVID ด้านสมอง ระบบประสาทและจิตเวช ไม่ต่างสายพันธุ์ก่อนหน้า การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
18 ส.ค.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 18 สิงหาคม 2565 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 726,449 คน ตายเพิ่ม 1,837 คน รวมแล้วติดไป 597,589,917 คน เสียชีวิตรวม 6,461,665 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อิตาลี และฝรั่งเศส
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 83.36 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 61.67
...สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 15 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
...อัพเดตโควิด-19 กับโรคทางสมอง/ระบบประสาท และจิตเวช ล่าสุด Taquet M และคณะ จากมหาวิทยาลัย
อ๊อกซฟอร์ด สหราชอาณาจักร ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ The Lancet Psychiatry ถือเป็นงานวิจัยที่ศึกษาย้อนหลัง 2 ปี ในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่มากถึงเกือบ 1.3 ล้านคนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งยุโรป เอเชีย และอเมริกา ครอบคลุมตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน และผู้สูงอายุ โดยทำการประเมินความเสี่ยงของปัญหา Long COVID ที่ส่งผลให้เกิดโรคทางสมอง ระบบประสาท และจิตเวช
สาระสำคัญคือ
หนึ่ง Omicron ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหา Long COVID ด้านสมอง ระบบประสาท และจิตเวช ไม่ต่างจากเดลต้า หรือสายพันธุ์ก่อนหน้า
สอง ผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 มีความเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติด้านอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ฯลฯ แต่ความเสี่ยงจะค่อยๆ ลดลงสู่ปกติภายในเวลา 2-3 เดือน
สาม ผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีความเสี่ยงต่อปัญหาทางสมองและระบบประสาท เช่น ปัญหาด้านความคิดความจำ สมาธิ สมองเสื่อม โรคจิต โรคลมชัก ฯลฯ มากกว่าปกติยาวนานจนถึง 2 ปีที่ทำการศึกษา (ซึ่งอาจนานกว่า 2 ปี หากมีการศึกษาต่อในอนาคต)
ผลการศึกษานี้เป็นที่สนใจของทั่วโลก เพราะชี้ให้เห็นว่าปัญหา Long COVID นั้นเป็นเรื่องสำคัญ และภาวะผิดปกติต่อสมอง ระบบประสาท รวมถึงจิตใจและอารมณ์นั้นเกิดขึ้นได้หลากหลาย โดยความเสี่ยงต่อหลายโรคนั้นคงอยู่ยาวนานถึง 2 ปี หรืออาจมากกว่านั้น ที่สำคัญคือการติดเชื้อสายพันธุ์ Omicron ก็มีความเสี่ยงต่อภาวะต่างๆ ดังกล่าว ไม่ได้น้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้าเลย
นอกจากระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศต้องเตรียมรับมือ จัดระบบบริการที่จะสามารถให้การตรวจคัดกรอง ดูแลรักษา และฟื้นฟูสภาพแล้ว แต่ละประเทศยังจำเป็นต้องพิจารณาระบบสนับสนุนทางสังคมเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยต่างๆ ที่ประสบปัญหาข้างต้น ให้สามารถดำรงชีวิตประจำวันไปได้ด้วย
สำหรับประชาชนที่เคยติดเชื้อมาก่อน ก็ควรมีความรู้เท่าทัน หมั่นประเมินสุขภาพของตนเอง ทั้งเรื่องความคิดความจำ สมาธิ อารมณ์ หากผิดปกติไปจากอดีต ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและให้การดูแลรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที ...การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง เป็นหัวใจสำคัญ...
อ้างอิง
Taquet M et al. Neurological and psychiatric risk trajectories after
SARS-CoV-2 infection: an analysis of 2-year retrospective
cohort studies including 1284437 patients. The Lancet Psychiatry. 17 August 2022.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดพิกัดเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนในจุฬาฯ
ปีนี้งาน Night Museum at Chula เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดภายใต้แนวคิด “เสน่ห์ Science” ชูเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัวเรา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและเป็นแรงขับเคลื่อนทุกย่างก้าวของคนในปัจจุบัน
จุฬาฯ เดินหน้ายุทธศาสตร์ใหม่ สร้าง Siam Square ให้เป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน รวมพลคนพิการโชว์พลังครั้งใหญ่ที่สุด!
อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีม PMCU (สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ) และ มูลนิธิ Five for All เปิดงาน Siam Square Walking Street For All ครั้งแรก! บนพื้นที่ใจกลางสยามสแควร์ ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม
'หมอยง' แนะแนวทางแก้ไขหลุดพ้นจากกับดักผลงานวิชาการ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก