'นพ.ธีระ' ชี้ต่างชาติกำลังเร่งศึกษาภาวะ Long COVID

หมอธีระเผยแนวโน้มโควิดโลก คาดสิ้นเดือนนี้ทะลุ 600 ล้านรายแน่ พร้อมอัพเดตความรู้ตอกย้ำผู้สูงอายุระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอเมื่อเจอโควิด ฝรั่งเร่งศึกษาภาวะ Long COVID

10 ส.ค.2565 - นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ว่าด้วยแนวโน้มสถานการณ์ปัจจุบัน ทั่วโลกอาจมียอดติดเชื้อทะลุ 600 ล้านภายในสิ้นเดือนนี้ เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 638,473 คน ตายเพิ่ม 1,405 คน รวมแล้วติดไป 590,726,580 คน เสียชีวิตรวม 6,440,226 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิตาลี ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 87.15 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 68.54

...สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

...อัพเดตความรู้โควิด-19 "คนสูงอายุมีการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ที่ด้อยกว่า ทำให้เสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตมากกว่าคนวัยหนุ่มสาว"

Joseph M และคณะ จากสหราชอาณาจักร เผยแพร่ผลการวิจัยในวารสารวิทยาศาสตร์การแพทย์ระดับสากล PNAS เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยชี้ให้เห็นลักษณะตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ (T-cell response) ต่อไวรัสโรคโควิด-19 เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มคนที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และกลุ่มที่อายุน้อยกว่า 50 ปี พบว่าการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของคนที่อายุเยอะจะมีความจำกัดกว่าคนอายุน้อย

งานวิจัยนี้ได้ระบุว่า ปรากฏการณ์ข้างต้นน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่มีส่วนอธิบายว่าเหตุใดคนสูงอายุที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 แล้วจึงมีโอกาสป่วยรุนแรงและเสียชีวิตมากกว่าคนอายุน้อย การดูแลและป้องกันการติดเชื้อแพร่เชื้อในผู้สูงอายุ รวมถึงคนที่มีโรคประจำตัวต่างๆ ที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จึงมีความสำคัญมาก ทั้งเรื่องการใส่หน้ากาก รวมถึงการฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนด

"การวิจัยเพื่อหาทางรักษาภาวะ Long COVID" Ledford H ได้เขียนบทความเผยแพร่ในวารสาร Nature วันที่ 9 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยนำเสนอให้เห็นว่าตลอดช่วงที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั่วโลกจำนวนมาก และส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยที่เกิดภาวะอาการคงค้าง หรืออาการผิดปกติในระยะยาวอย่าง Long COVID เพิ่มขึ้นมาก แต่ยังไม่มีวิธีการรักษาอย่างจำเพาะเจาะจง

ขณะนี้เริ่มมีการวิจัยเพื่อหาวิธีรักษา Long COVID และมีอย่างน้อย 26 โครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ โดยทำการศึกษาแนวทางต่างๆ เช่น ยาต้านการอักเสบ ยาสลายลิ่มเลือด สเตียรอยด์ และอื่นๆ ทั้งนี้จำเป็นต้องใช้เวลาในการศึกษาวิจัย กว่าจะรู้ผล

...การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอนะครับ

อ้างอิง
1. Joseph M et al. Global patterns of antigen receptor repertoire disruption across adaptive immune compartments in COVID-19. PNAS. 9 August 2022.
2. Ledford H. Long-COVID treatments: why the world is still waiting. Nature. 9 August 2022.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดพิกัดเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนในจุฬาฯ

ปีนี้งาน Night Museum at Chula เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดภายใต้แนวคิด “เสน่ห์ Science”  ชูเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัวเรา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและเป็นแรงขับเคลื่อนทุกย่างก้าวของคนในปัจจุบัน 

‘หมอยง’ สะท้อนความรู้สึกโควิด-19 ปีที่ 2 'ยุ่งเหยิง-ดราม่าวัคซีน-เซียนคีย์บอร์ด'

หลังการระบาดใหญ่ทั่วโลก ในปีแรก ทุกคนมุ่งหวัง ที่จะยุติการระบาดด้วยวัคซีน จึงมีการผลิตคิดค้นวัคซีนกันมากมาย มากกว่า 10 platform