พบผู้ป่วยติดโควิด 2 ครั้ง ต่างสายพันธุ์ ห่างกันเพียง 19 วัน

5 ส.ค. 2565 – นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ไวรัสโควิด-19 ติดครั้งที่ 2 ห่างกัน 19 วัน

ผู้ป่วยชายไทยอายุ 67 ปี มาโรงพยาบาลด้วยไข้ ไอ มีเสมหะ 10 วัน ประวัติเดินทางไปเที่ยวประเทศอิตาลี ขึ้นเครื่องบินวันที่ 20 มิถุนายน 2565 หลังเดินทางไปถึงประเทศอิตาลี 4 วัน วันที่ 24 มิถุนายน เริ่มมีอาการไข้ ไอ เสมหะ ตรวจ ATK เองได้ผลบวก ภรรยาที่ไปด้วย มีอาการคล้ายกัน และตรวจ ATK ให้ผลบวกเหมือนกัน ทั้ง 2 คนกินฟ้าทะลายโจร อาการดีขึ้นหายเป็นปกติ เดินทางกลับถึงประเทศไทยวันที่ 9 กรกฎาคม หลังกลับถึงกรุงเทพ 4 วัน วันที่ 13 กรกฎาคม เริ่มมีอาการ ไข้ ไอและมีเสมหะอีก ตรวจ ATK เองให้ผลลบ กินยาปฏิชีวนะไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยมีไข้ ไอ มีเสมหะต่อเนื่อง 10 วัน เริ่มเหนื่อย ผู้ป่วยเคยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองรักษาหายแล้ว หยุดยาทุกอย่าง 5 ปี ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม และกระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์ 1 เข็ม

ตรวจร่างกาย มีไข้อุณหภูมิ 39.5 องศาเซลเซียส ฟังปอดผิดปกติทั้ง 2 ข้าง เอกซเรย์ปอดมีฝ้าขาวที่ปอดด้านซ้ายมากกว่าด้านขวา (ดูรูป) ระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้วต่ำเล็กน้อย 94 ตรวจ ATK และ RT-PCR SARS-CoV2 ให้ผลบวก ค่า RdRp/N-gene (CT Value) 17.4 ส่งตรวจ respiratory virus และ bacteria PCR panel ไม่พบไวรัส และแบคทีเรียตัวอื่นๆ ที่ทำให้เกิดปอดอักเสบ ตรวจไม่พบเชื้อวัณโรค

วินิจฉัยเป็นปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งที่ 2 ให้ยาฉีดเรมเดซิเวียร์ (remdesivir) 5 วัน และเสตียรอยด์ทางหลอดเลือด คนไข้ดีขึ้น ไข้ลง ไอน้อยลง ไม่เหนื่อย เอกซเรย์ปอดดีขึ้น หยุดใช้ออกซิเจน ระดับออกซิเจนในเลือดกลับมาปกติ

ผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อไวรัสโควิด 2 ครั้งห่างกันเพียง 19 วัน เชื่อว่าติดเชื้อต่างสายพันธุ์ระหว่างเดินทางในเครื่องบินทั้งขาไปและขากลับ เพราะเวลากินอาหารในเครื่องบินต้องถอดหน้ากากอนามัย ติดเชื้อครั้งที่ 2 รุนแรงกว่าติดเชื้อครั้งแรก ทั้งๆ ที่ผู้ป่วยได้รับวัคซีน 3 เข็มแล้ว แต่ผู้ป่วยอาจมีภูมิคุ้มกันไม่ดี เนื่องจากเคยป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ถึงแม้จะรักษาหายขาด 5 ปีแล้วก็ตาม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน