สธ. เผยตัวเลขผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้น​ แต่อาการหนัก-เสียชีวิตลดลง​

1 ส.ค.2565 ​- ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงรายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า รายงานสถานการณ์วันที่ 1 ส.ค. 2565 ประเทศไทยมีผู้ป่วยอาการปอดอักเสบ 879 ราย ที่รักษาในโรงพยาบาล​ และผู้ใส่ท่อช่วยหายใจ 457 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงจาก 2 วันที่แล้ว ส่วนผู้เสียชีวิต 19 ราย ก็ลดลงต่อเนื่อง จากที่เคยพบวันละ 30 ราย ติดต่อกัน​ สอดคล้องกับภาพรวมโควิด-19 ทั่วโลก ที่สัปดาห์นี้เริ่มคงที่ แต่ด้วยระบบการรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ บางประเทศไม่ได้ตรวจผู้ติดเชื้อทุกคนแล้ว ดังนั้น การติดตามข้อมูลตัวเลขรายใหม่ต้องแปลผลด้วยความระวัง แต่ตัวเลขที่ติดตามสถานการณ์ได้ดี คือ ผู้เสียชีวิต ซึ่งแนวโน้มของไทยค่อนข้างคงที่และแนวโน้มลดลง

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่รักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ยังค่อนข้างมาก สัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานจากระบบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 201,554 ราย อย่างไรก็ตาม ผู้เสียชีวิต 19 รายใหม่ ยังเป็นกลุ่ม 608 ทั้งหมด โดยเป็นผู้ที่ไม่รับวัคซีนโควิด-19 แม้แต่เข็มแรกมีถึง 9 ราย คิดเป็นร้อยละ 47 ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 6 ราย คิดเป็นร้อยละ 32 และรับเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) แต่นานมากกว่า 3 เดือนอีก 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 21

“ด้วยเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4 และ BA.5 เป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดในรอบนี้ ส่วนใหญ่ดื้อต่อวัคซีน ฉะนั้น การฉีดเข็มกระตุ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิต ซึ่งต่อไปนี้การฉีดเข็ม 3, 4 หรือ 5 เราจะเรียกว่า เข็มกระตุ้น หากฉีดเข็มสุดท้ายนานเกิน 3 หรือ 4 เดือน ก็สามารถติดต่อขอรับเข็มกระตุ้นได้” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส​ กล่าวถึงฉากทัศน์การระบาดโควิด-19 ว่า ตามที่คาดการณ์ผู้ป่วยใหม่รายวัน ขณะนี้ค่อนข้างอยู่ในเกณฑ์เส้นสีเขียว แปลว่า ระบบสาธารณสุขรองรับได้ค่อนข้างดี หลายหน่วยงานให้ข้อมูลตรงกันว่า เตียงรองรับผู้ป่วยอาการหนักได้ เนื่องจากจำนวนไม่ได้ตามจำนวนติดเชื้อใหม่ เพราะการฉีดวัคซีนค่อนข้างมากแล้ว จึงคาดว่าสถานการณ์จะคงที่และค่อยๆ ลดลง ฉะนั้น สถานการณ์ตอนนี้เป็นตามคาดการณ์ไว้ คือ ผู้ติดเชื้อใหม่จะเพิ่มขึ้นและเริ่มคงตัว สำหรับผู้ที่อาการหนักและเสียชีวิตก็จะมีแนวโน้มคงตัวและลดลงใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า

“ในช่วงวันหยุดยาวมีพี่น้องที่เดินทางไปต่างจังหวัดเยอะ จึงต้องติดตามสถานการณ์ในต่างจังหวัดว่าจะมีการระบาดเพิ่มขึ้นหรือไม่ ฉะนั้น ขอให้ประชาชนดำเนินตามมาตรการ 2U คือ Universal Prevention and Vaccination คือป้องกันตัวเองสูงสุดและการฉีดวัคซีน” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติม​ว่า สำหรับแนวทางการใช้ภูมิคุ้มกันโควิด-19 สำเร็จรูป (LAAB) บางคนอยากเรียกว่า ยามากกว่าวัคซีน ข้อดีคือ ฉีดเข้าร่างกายเพื่อสร้างภูมิฯ ต่อเชื้อโรคโดยตรง อยู่ได้นานถึง 6 เดือน ฉะนั้น ประโยชน์ของ LAAB เหมาะกับผู้ที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไม่ดี โดย 1 กล่อง จะมียา 2 ขวด ฉีดพร้อมกันทีเดียวบริเวณสะโพก ข้อบ่งใช้เพื่อป้องกันติดเชื้อในกลุ่มผู้ที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี และเปิดกว้างไว้สำหรับแพทย์ใช้ดุลยพินิจในการให้ยากับผู้ป่วยบางกรณี เบื้องต้น ใช้ในผู้อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป น้ำหนักมากกว่า 40 กิโลกรัมขึ้นไป โดยเป้าหมายใน 1.กลุ่มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ต้องฟอกเลือด 2.ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ ที่ได้รับยากดภูมิฯ อย่างไรก็ตาม การให้ยาดังกล่าวให้ขึ้นตามพินิจของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และกรุงเทพมหานคร ซึ่งยาจะถึงพื้นที่อย่างช้าในสัปดาห์นี้ 7,000 โดส โดยกำหนดทางผู้ผลิตจะส่งมอบยา 2.5 แสนโดส ภายใน 2 เดือน ส่วนกลางก็จะกระจายตามระยะ ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สามารถติดต่อกับแพทย์ที่ดูแลการป่วยเพื่อรับยาได้

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สธ. ห่วง ปชช. ช่วงฤดูฝน พร้อมดูแลผู้ป่วยงูพิษกัด ไข้เลือดออกระบาด

น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข

สธ.เตรียม 6 มาตรการรับอุทกภัย 35 จังหวัดเสี่ยง เฝ้าระวังกลุ่มเปราะบาง

‘เกณิกา’เผย กระทรวงสาธารณสุข วาง 6 มาตรการ เตรียมรับสถานการณ์อุทกภัย 35 จังหวัดเสี่ยง พร้อมจัดทีมเฝ้าระวังสถานการณ์ ดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง

‘เศรษฐา’ ลาป่วยติดโควิด กลับมาปฎิบัติงานวันที่ 19 มิ.ย.นี้

นายกรัฐมนตรี ได้พบแพทย์ หลังจากมีอาการป่วย อ่อนเพลียเล็กน้อย ตั้งแต่วันศุกร์ ที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา ผลการตรวจพบว่าติดโควิด