นพ.ธีระคาดสิ้นเดือนนี้ยอดติดโอมิครอนไทยพุ่งสูงสุด

'หมอธีระ' ชี้ตอนนี้ Omicron BA.5 เป็นเจ้าตลาดอยู่ เตือนเป็นสานพันธุ์แพร่ไว มีโอกาสเป็นซ้ำและรุนแรง คาดสิ้นเดือนนี้ไทยพีคสุด แนะรีบไปฉีดกระตุ้นเข็ม 4

28 ก.ค.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 809,909 คน ตายเพิ่ม 1,685 คน รวมแล้วติดไป 577,925,224 คน เสียชีวิตรวม 6,409,539 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา อิตาลี และฝรั่งเศส เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 72.22 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 52.1

...สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

...อัพเดตจาก WHO องค์การอนามัยโลกออกรายงาน WHO Weekly Epidemiological Update ล่าสุดเมื่อวานนี้ 27 กรกฎาคม 2565 การระบาดทั่วโลกของสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น สายพันธุ์ Omicron เป็นสายพันธุ์หลักในการระบาด ในขณะที่เดลตานั้นเหลือน้อยกว่า 0.1%

หากเจาะลึกดูสายพันธุ์ย่อย พบว่า Omicron BA.5 มีสัดส่วนครองการระบาดถึง 52%, BA.4 11% ในขณะที่ BA.2 และ BA.2.12.1 นั้นมีสัดส่วนเพียง 2-3% เท่านั้น เมื่อดูภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซึ่งไทยอยู่) พบว่า จำนวนติดเชื้อใหม่ที่รายงานในสัปดาห์ล่าสุดนั้นเพิ่มขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อนหน้า 13% และจำนวนเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 8%

...เทียบกับตัวเลขรายสัปดาห์ของไทยจาก Worldometer พบว่าจำนวนติดเชื้อใหม่ที่รายงานในสัปดาห์ล่าสุดเพิ่มกว่าสัปดาห์ก่อน 14% แต่เสียชีวิตเพิ่มขึ้นสูงถึง 30% ตัวเลขข้างต้นมีความหมายสำคัญ เพราะเราทราบกันดีว่าจำนวนติดเชื้อใหม่ที่ สธ.ไทยรายงานนั้นเป็นตัวเลขผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ไม่ใช่ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งสูงกว่าที่รายงานมาก ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่จำนวนเสียชีวิตที่สูงขึ้นถึง 30% นั้น ย่อมสะท้อนถึงความไม่ไปด้วยกันกับตัวเลขติดเชื้อที่รายงาน (decoupling phenomenon)

นอกจากนี้ หากจำได้ จะพบว่าตั้งแต่ต้นพฤษภาคมที่ผ่านมา ตัวเลขเสียชีวิตที่รายงานในแต่ละวันนั้น ไม่รวมจำนวนเสียชีวิตที่มีโรคร่วม เมื่อเป็นเช่นนั้น จำนวนผู้เสียชีวิตจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละวันย่อมสูงกว่าที่รายงานมาก

...ด้วยข้อมูลตัวเลขต่างๆ ข้างต้น จึงต้องเน้นย้ำให้เราตระหนักถึงสถานการณ์ระบาดในปัจจุบันว่ามีแนวโน้มชัดว่า "หนัก" หนักหน่วง...เพราะติดเชื้อจริงจำนวนมาก หนักหนา...เพราะสายพันธุ์ย่อย BA.5 นั้นพิสูจน์แล้วว่า นอกจากแพร่ไวขึ้น ดื้อภูมิคุ้มกันมากขึ้น โอกาสติดเชื้อซ้ำมากขึ้นแล้ว ยังมีความรุนแรงกว่า BA.2 เดิมถึง 2-3 เท่า โดยติดเชื้อแล้วจะเกิดมีอาการได้บ่อยกว่า หนักกว่า ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น และโอกาสเสียชีวิตมากขึ้นได้

น่าหนักใจ...เพราะตัวเลขที่เห็นในรายงาน ต่ำกว่าสถานการณ์จริง และไม่มีระบบรายงานที่ทำให้ประชาชนเห็นสถานการณ์แบบ real time ซึ่งย่อมส่งผลต่อการรับรู้ ความตระหนัก และการตัดสินใจประพฤติปฏิบัติเรื่องการป้องกันตัวอย่างเหมาะสม

...การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงในการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต
สำหรับคนที่ยังไม่ได้รับเข็มสาม (เข็มกระตุ้นครั้งที่ 1) ควรรีบไปรับในขณะที่เข็มสี่ (เข็มกระตุ้นครั้งที่ 2) นั้น ในต่างประเทศนั้นแนะนำให้แก่ผู้สูงอายุหรือคนที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป, คนที่มีโรคประจำตัว รวมถึงคนที่ทำงานเสี่ยงต้องพบปะดูแลคนจำนวนมาก เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ฯลฯ

ข้อมูลการวิจัยพิสูจน์ให้เห็นประโยชน์ของการฉีดเข็มกระตุ้นครั้งที่ 2 นั้น ตอนนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากอิสราเอล สหรัฐอเมริกา และสวีเดน โดยพบว่าช่วยลดโอกาสป่วย ป่วยรุนแรง และเสียชีวิตลงไปได้มาก

...ตามธรรมชาติของ BA.5 ที่เห็นจากต่างประเทศนั้น ดูตามเงื่อนเวลา ประเมินว่าไทยน่าจะเข้าสู่พีคราวปลายเดือนนี้ ซึ่งหากช่วงหยุดยาว 4 วันนี้ป้องกันไม่ดี ก็จะทำให้จำนวนติดเชื้อจริงสูงไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้
ช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมานั้น ทำให้จำนวนติดเชื้อใหม่ที่เกิดขึ้นโดยเฉลี่ยสูงขึ้นราว 11% (จากการคาดประมาณ ไม่ใช่จากรายงานประจำวันของ สธ.) ที่ต้องย้ำคือ ติดเชื้อไม่ใช่แค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยรุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อ Long COVID ระยะยาว

...การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อไปได้มาก นี่เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะช่วยกันประคับประคองให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน...

อ้างอิง
1. WHO Weekly Epidemiological Update. WHO. 27 July 2022.
2. Topol E. Summary of 2nd Booster Effectiveness. 27 July 2022. (Table)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

8 ปัจจัยที่เอื้อต่อผลสำเร็จ ในการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชน ของระบบสุขภาพไทย

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท เจ้าของรางวัลผู้นำสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เผยแพร่บทความเรื่อง 8 ปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จในการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชนของระบบสุขภาพไทย มีเนื้อหาดังนี้

‘หมอธีระ’ ข้องใจตัวเลขโควิด สัปดาห์ก่อนพุ่งอาทิตย์นี้ลดฮวบ ไม่ใช่เรื่องปกติ

สัปดาห์ก่อน ตัวเลขนอนรพ.พุ่งขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อนหน้านั้นถึง 78% แต่สัปดาห์ล่าสุดนี้ ลดลงฮวบฮาบจากสัปดาห์ก่อนถึง 57.7% ส่วนตัวคิดว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ควรต้อง explore

'หมอยง' ชี้ 'โควิด' ระบาดหนัก แต่รุนแรงลดลง เข้าใกล้ไข้หวัดใหญ่

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19