22 ก.ค. 2565 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 808,306 คน ตายเพิ่ม 1,517 คน รวมแล้วติดไป 572,287,840 คน เสียชีวิตรวม 6,397,591 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อิตาลี และเกาหลีใต้ เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 12 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 65.88 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 43.5
…สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 13 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
…อัปเดตความรู้โควิด-19
1.”BA.5 มีความรุนแรงกว่า BA.2 ถึง 1.65 เท่า”
งานวิจัยล่าสุดจากประเทศเดนมาร์ก โดย Hansen CH และคณะ เผยแพร่ใน SSRN เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2022 ที่ผ่านมา ทำการศึกษาในประชากรทั่วประเทศ อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งติดเชื้อโรคโควิด-19 ในช่วง 10 เมษายนถึง 20 มิถุนายน 2022
สาระสำคัญพบว่า Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.5 (ซึ่งระบาดทั่วโลกขณะนี้) มีความรุนแรงจนทำให้ป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 (ซึ่งระบาดมาก่อน BA.5) ถึง 65% (หรือ 1.65 เท่า)
ผลการศึกษานี้อธิบายปรากฏการณ์ปัจจุบัน ที่เราพบว่านอกจาก BA.5 จะแพร่เชื้อติดเชื้อกันได้ง่ายกว่าเดิมแล้ว ยังทำให้มีคนป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้นทั่วโลก เพราะ BA.5 มี severity มากกว่า BA.2
อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามผลการศึกษาจากที่อื่นๆ ด้วยว่าได้ผลสอดคล้องกับที่เดนมาร์กหรือไม่ หากสอดคล้องกัน ก็จะมีความมั่นใจมากขึ้น
ทั้งนี้ การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเวลาใช้ชีวิตประจำวัน การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องนั้นสำคัญมาก
2.”Long COVID is real”
Sorensen AIV และคณะจากประเทศเดนมาร์ก ทำการสำรวจในประชากรทั่วประเทศจำนวน 430,173 คน อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป เกี่ยวกับอาการผิดปกติหลังการติดเชื้อโรคโควิด-19 (Long COVID or PASC) เผยแพร่ในวารสาร Nature Communications วันที่ 21 กรกฎาคม 2022 ที่ผ่านมา
สาระสำคัญพบว่า ความผิดปกติหลังติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นพบได้มากมายหลากหลายอาการ แม้ในผู้ที่ติดเชื้อโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลก็ตาม และผู้ที่มีอาการผิดปกตินั้นก็มีอาการคงค้างยาวนานไปถึงอย่างน้อย 1 ปี ในสัดส่วนที่สูง
คนที่เป็นเพศหญิง และคนที่อยู่ในช่วงวัยกลางคนขึ้นไป จะเสี่ยงต่อปัญหา Long COVID มากกว่ากลุ่มอื่น
กลุ่มที่ติดเชื้อพบว่าประสบปัญหาเรื่องสมรรถนะทางกายอ่อนล้า สมรรถนะทางจิตใจอ่อนล้า ไม่มีสมาธิ ปัญหาด้านความจำ และปัญหาการนอนหลับ มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ติดเชื้ออย่างมีนัยสำคัญ โดยมีความเสี่ยงสูงกว่าถึง 40.45%, 32.58%, 28.34%, 27.25%, และ 17.27% ตามลำดับ
ดังนั้น การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมีความจำเป็น และวัคซีนจะช่วยป้องกัน Long COVID ได้ราว 15% การใส่หน้ากากสำคัญมาก และจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไปได้มาก
อ้างอิง
1.Hansen CH et al. Risk of Reinfection, Vaccine Protection, and Severity of Infection with the BA.5 Omicron Subvariant: A Danish Nation-Wide Population-Based Study. SSRN (Preprints with The Lancet). 18 July 2022.
2.Sorensen AIV et al. A nationwide questionnaire study of post-acute symptoms and health problems after SARS-CoV-2 infection in Denmark. Nature Communications. 21 July 2022.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 549 ราย ดับเพิ่ม 1 คน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2567
โควิดกลับมาระบาดใหม่ ‘หมอมนูญ’ ขออย่าตื่นตระหนก รักษาตามอาการหายได้
เวลาผ่านไปโรคโควิดลดความรุนแรงลง โรคโควิดไม่น่ากลัวหมือนเมื่อ 3-4 ปีก่อน คนไทยไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจกลัวโรคโควิดมากเกินไป
'เส้นเลือดแตกในสมอง' ทำไมพบบ่อยมากและรุนแรงขึ้น
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและสมอง และที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์ตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เส้นเลือดแตกในสมอง
ไขข้อข้องใจ! ทำไมกินช็อกโกแลตแล้วสุขภาพดี
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า กินช็อกโกแลตแล้วสุขภาพดี…… สนใจมั้ย?
สายการบิน 'ลุฟท์ฮันซา' ต้องจ่ายค่าปรับกรณีเลือกปฏิบัติต่อผู้โดยสารชาวยิว
สายการบินลุฟท์ฮันซาต้องจ่ายค่าปรับจำนวน 4 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกา เหตุเพราะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดขอ