'หมอธีระวัฒน์' ไล่เรียง 'ลองโควิด'

'หมอธีระวัฒน์' ไล่เรียงความเป็นมาของลองโควิด เผยศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ จุฬาฯ กำลังศึกษาดัชนีชี้วัด

20 ก.ค.2565 - ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “ลองโควิด” ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2020 ที่เริ่มมีการระบาดใหม่ๆ ประเทศหรือพื้นที่ที่เริ่มมีเวลาหายใจหายคอจากการทะลักทลายของผู้ป่วยหนักเข้าโรงพยาบาล ก็มีเวลาสังเกตและเจอคนที่เรียกว่าหายแล้ว นั่นก็คือออกจากโรงพยาบาลได้ ตรวจไวรัสไม่เจอว่ามีการปล่อยออกมาจากร่างกาย แต่อาการกลับไม่หายจริงและเกิดยืดยาวต่อเนื่อง หรือสงบแล้วปะทุใหม่เป็นพักๆ ทั้งนี้ ไม่จำกัดอยู่แต่เพียงว่าอาการในครั้งแรกต้องหนักมากเสมอไป แม้แต่กลุ่มที่อาการน้อยก็มีความผิดปกติทอดยาวออกไปอีก และตั้งชื่อว่าเป็นหนังยาวของโควิด หรือลองโควิด (long Covid)

รูปแบบลักษณะดังกล่าวนี้ทับซ้อนกับปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Myalgic Encephalomyelitis (ME)/Chronic fatigue syndrome (CFS) โดยลักษณะประกอบไปด้วยอาการปวดกล้ามเนื้อที่มีส่วนเกี่ยวโยงกับกระบวนการอักเสบที่เกิดขึ้นในสมองและระบบประสาทส่วนกลาง รวมทั้งมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ตลอดเวลา มีอาการเหนื่อยล้า ทำงานไม่ได้ ขาดสมาธิ มีความผิดปกติทางระบบประสาทอัตโนมัติและไม่สามารถออกกำลังได้เลย
ตามประวัติศาสตร์สามารถสืบย้อนไปได้ตั้งแต่ในปี 1934 (88ปี) ในนครลอสแอนเจลิส ปี 1948 (74ปี)ที่ไอซ์แลนด์ ปี 1955 (67 ปี) ที่ลอนดอน และในปี 1984 (38ปี) ที่เนวาดา

ในปี 1955 คุณหมอจากไอซ์แลนด์ได้เริ่มใช้เทอมหรือคำเรียก ME จากการเทียบเคียงลักษณะความผิดปกติในน้ำไขสันหลังระหว่างผู้ป่วยที่เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลรอยัลฟรีในลอนดอน และผู้ป่วยในปี 1948 ที่ไอซ์แลนด์ Akureyri โดยลักษณะอาการบ่งบอกถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมองและไขสันหลังร่วมกับมีอาการปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงและมีอ่อนแรงและมีตะคริวร่วมด้วย

และจากหลายเหตุการณ์ต่อมาจนกระทั่งในปี 1984 ถึง 1985 ที่หมู่บ้าน Incline ในรัฐเนวาดาก็เกิดลักษณะที่คล้ายกันเช่นเดียวกัน โดยทั้งหมดนี้มีอาการเริ่มต้นเป็นแบบติดเชื้อด้วยไวรัสทั้งหมด

และเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า chronic fatigue syndrome หรือ CFS ทั้งนี้ โดยเชื่อว่ากลุ่มอาการทั้งสองแบบนั้นน่าจะมีรากฐานเกี่ยวพันกับกระบวนการอักเสบในระบบประสาท

ฉบับยาวอาจมีได้สูงถึง 50% หรือถึงครึ่งหนึ่งของผู้ที่หายจากโควิดฉบับสั้นไปแล้ว และอาการที่เกิดขึ้นมีได้เป็น 100 อย่างและครอบคลุมแทบจะทุกอวัยวะของร่างกาย โดยมีตัวร่วมโดยเฉพาะความแปรปรวนทางสมอง จิตและอารมณ์ แต่ขณะเดียวกันก็มีความคล้องจองเหมือนกับ ME/CFS ที่กล่าวแต่ต้น

ทั้งนี้ โควิดเก่งกว่ารุ่นแรกๆ ตั้งแต่ปี 1934 ทั้งนี้ เพราะกระทบในคนมากมายกว่า และอาการดูเหมือนจะรุนแรงมากกว่าที่เคยปรากฏมาก่อนในรุ่นแรกๆ

จากหลักฐานของ ME/CFS ที่ได้จากรุ่นแรกๆ ซึ่งอาจจะนำมาใช้อธิบายในโควิดนั้น โดยเป็นไปได้ว่า การอักเสบที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อ เกิดขึ้นนอกสมองและระบบประสาท แต่สมองรับรู้โดยตอบโต้กับโมเลกุล ชิ้นส่วนเล็กๆของอนุภาคการอักเสบเหล่านี้ในเลือดและอาจเป็นไปได้ที่มีการส่งผ่านโมเลกุลเหล่านี้ผ่านผนังเส้นเลือดเข้าไปในสมอง ทั้งจากการนำพาเข้าไปหรือซึมผ่านเข้าสมองโดยตรงในบริเวณที่ผนังกั้นไม่แข็งแรงและนอกจากนั้นโมเลกุลของการอักเสบเหล่านี้ยังพบได้ในเส้นประสาทเวกัส หรือเส้นประสาทสมองเบอร์ 10 ที่ทอดยาวลงมายังลำไส้และสามารถส่งผ่านการอักเสบเหล่านี้ขึ้นไปจนกระทั่งถึงก้านสมองในวงจรของ NTS (nucleus tractus solitarius) ที่ควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ รวมทั้งเส้นเลือดและหัวใจ เป็นต้น และน่าจะมีผลตามติดต่อเนื่องไปถึงกระบวนการควบคุมการทำงานของฮอร์โมนต่างๆ ที่มีการควบคุมจากสมองตั้งแต่ในส่วนของ ไฮโปธาลามัส (hypothalamus) ต่อมใต้สมอง (pituitary) และต่อเนื่องมาถึงระบบควบคุมฮอร์โมนต่างๆในร่างกายจนกระทั่งถึงต่อมหมวกไต

ปรากฏการณ์โควิดฉบับยาวจะกลายเป็นภาระสำคัญของระบบสาธารณสุขของทุกประเทศที่มีการระบาดของโควิด ทั้งนี้ เนื่องจากคนที่ถูกกระทบจะมีได้ทุกอายุไม่จำกัดเพศ และเกิดจากการติดเชื้อโควิดแบบรุนแรงและไม่รุนแรง ด้วยอาการที่เกิดขึ้นจะบั่นทอนคุณภาพชีวิต ประสิทธิภาพของการทำงาน กระบวนการของความคิด แม้กระทั่งสมาธิ สติปัญญา ความจำจะถดถอย และรุนแรงถึงขนาดที่ต้องมีการปรึกษา หรือได้รับการรักษาจากแพทย์ในแทบทุกแขนง รวมกระทั่งถึงจิตแพทย์ เพราะมีความรู้สึกหดหู่ ปฏิเสธสิ่งรอบข้างจนกลายเป็นก้าวร้าว หรือมีปัญหา ทางสังคมแบบในปรากฏการณ์หลังจากที่มีภาวะเครียดอย่างรุนแรง (post traumatic stress syndrome)

ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์จุฬา กำลังทำการศึกษาหาดัชนีชี้วัด ไม่เฉพาะแต่การอักเสบที่อยู่ในเลือด แต่รวมถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นในสมองและทำให้สมองแปรปรวนและถูกทำลาย ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวง อว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จุฬาฯ เปลี่ยน 'สยาม' ให้เป็น 'สนาม' เด็กเล่น จัดงานวันเด็กสยาม 'CHULALAND แดนเด็กเล่น' พัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยผ่านกิจกรรมสนุกมากมาย

นางสาวศุภมาศ อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานเปิดงาน CHULA LAND แดนเด็กเล่น ซึ่งจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2568 ตั้งแต่เวลา 09.00-21.00 น. ที่สยามสแควร์

Siamsquare จัดเวที countdown ใหญ่ ให้วงเยาวชนไทยได้เป็นดาว!! ตอกย้ำการเป็นพื้นที่แห่งโอกาสของดาวดวงใหม่ของคนไทยทุกดวง

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมส่งท้ายปี 2024 กับเยาวชนและคนไทย พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) , อาจารย์ ดร.จรัสพัฒน์ พฤกษารัตนวุฒิ ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

70 ยัน 90 ปี เพียงเดินเพิ่ม 500 ก้าว ลดเสี่ยงโรคเส้นเลือดหัวใจ-สมองตีบ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและสมอง และที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 70 ยัน 90 ขวบ เพียงเดินเพิ่มแค่ 500 ก้าว