'หมอธีระ' ยกผลวิจัยชี้โควิด-19 มีผลต่อเบาหวาน-โรคหัวใจ!

โควิด-19 ยังน่าห่วง! หมอธีระยกผลวิจัยเมืองผู้ดี ชี้เชื้อโรคส่งผลต่อโรคเบาหวาน-หัวใจ ส่วนผลวิจัยของมะกันหนุนให้กระตุ้นเข็ม 3

20 ก.ค.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 760,982 คน ตายเพิ่ม 1,335 คน รวมแล้วติดไป 569,310,786 คน เสียชีวิตรวม 6,390,965 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และบราซิล เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 77.73 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 53.33

...สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 14 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

...อัพเดต BA.2.75
ข้อมูลจนถึงตอนนี้ สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ยังไม่มีแนวโน้มระบาดในประเทศอื่นอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่ยังอยู่ในอินเดีย การระมัดระวังป้องกันตัวเวลาใช้ชีวิตประจำวัน ก็จะลดความเสี่ยงไปได้ ไม่ว่าจะสายพันธุ์ใดก็ตาม

...ความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือดหลังติดโควิด-19
ล่าสุด Rezel-Potts E และคณะจากสหราชอาณาจักร ได้เผยแพร่ผลวิจัยใน PLOS Medicine วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา สาระสำคัญพบว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 จะเสี่ยงต่อการตรวจพบโรคเบาหวานและโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้จำนวนการตรวจพบเบาหวานเพิ่มขึ้นมากถึง 81% ในช่วงติดเชื้อระยะแรก และ 27% ในช่วง 4-12 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อ

ในขณะที่โรคหัวใจและหลอดเลือดนั้น มีจำนวนการตรวจพบเพิ่มขึ้นถึงราว 6 เท่าในช่วงติดเชื้อระยะแรก และค่อยๆ ลดลงหลังจาก 4-12 สัปดาห์หลังติดเชื้อ

ผลการศึกษานี้ย้ำเตือนให้เราเข้าใจถึงความสำคัญในการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ นอกจากนี้ หากติดเชื้อโรคโควิด-19 แล้ว ผู้ป่วยควรดูแลตนเอง ระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน และออกกำลังกาย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อเรื่องเบาหวานและโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย

...ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนต่อไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ
Bowen J และคณะจากสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสาร Science เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 เปรียบเทียบระดับภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนชนิดต่างๆ กับสายพันธุ์ไวรัสโรคโควิด-19

สาระสำคัญพบว่า วัคซีนที่ใช้ในปัจจุบัน หากฉีด 3 เข็ม (2 เข็มแรก + เข็มกระตุ้นอีก 1 เข็ม) ดูจะยังสามารถกระตุ้นให้เกิดระดับภูมิคุ้มกันต่อไวรัส Omicron สายพันธุ์ต่างๆ ทั้ง BA.1, BA.2, BA.2.12.1, และ BA.5 ได้
ที่น่าสนใจคือ mRNA vaccines 3 เข็ม, Novavax 2 เข็ม + mRNA vaccine 1 เข็ม, และ Sinopharm 2 เข็ม + mRNA vaccine 1 เข็ม งานวิจัยนี้ไม่มี Sinovac นะครับ

ผลการศึกษานี้ตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพราะ BA.5 ที่กำลังระบาดอยู่ทั่วโลกนั้นดื้อต่อภูมิคุ้มกันมาก การฉีดเพียงสองเข็มแรกนั้นไม่เพียงพอ

...สถานการณ์ปัจจุบันของไทยเรานั้น การระบาดยังรุนแรงต่อเนื่อง การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง เป็นเรื่องจำเป็น และจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อไปได้มาก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทรูวิชั่นส์' ชวนเปิดประตูสู่ดินแดนภารตะใน 'ADVENTURE BY ACCIDENT S2'

ความสนุกของการเดินทางกำลังจะเริ่มต้นอีกครั้ง กับรายการท่องเที่ยวแสนโด่งดังจากประเทศเกาหลีใต้ ที่เพิ่งคว้ารางวัลรายการบันเทิงยอดเยี่ยม จากงานประกาศรางวัล The 60th Baeksang Arts Award 2024 ตอนนี้ได้เดินทางมาถึง Season ที่ 2 แล้ว สำหรับ “ADVENTURE BY ACCIDENT S2”

'หมอยง' ชี้ 'โควิด' ระบาดหนัก แต่รุนแรงลดลง เข้าใกล้ไข้หวัดใหญ่

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19

เปิดผลวิจัยอเมริกา 'ออกกำลังกาย' เวลาไหนดีกว่ากัน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ประเด็นร้อน.. ออกกำลังเช้า หรือบ่าย-เย็น ดีกว่ากัน

จุฬาฯ ผงาดเจ้าภาพครั้งแรกของเวทีระดับโลก ‘Hult Prize 2024 Global Summits Bangkok’

การแข่งขันระดับโลกในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโค้งสุดท้ายในระดับนานาชาติ Bangkok” ระหว่างวันที่ 21 – 23 มิถุนายน 2567