ฉีดไปแล้ว 140 ล้านโดส สธ.เผยวัคซีนช่วยชีวิตคนไทยจากโควิด 4.9แสนคน แอนติบอดี LAAB มาล็อตแรกสัปดาห์หน้า

18 ก.ค.65-ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ รศ.ดร.ชรินทร์ โหมดชัง ผู้เชี่ยวชาญด้าน Mathematic Modeling สำหรับโรคติดต่อ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงสถานการณ์โควิด 19 ประสิทธิผลวัคซีนโควิด 19 และแนวทางการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB โดย นพ.โอภาสกล่าวว่า การพิจารณาสถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทย มีการใช้ข้อมูลทั้งจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้เสียชีวิต และผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือ Home Isolation ซึ่งขณะนี้พบว่า ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต ดูเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ โดยช่วงหยุดยาวที่ผ่านมามีการเดินทางไปต่างจังหวัดกันมาก จึงต้องติดตามว่าแนวโน้มจะเป็นอย่างไร

นพ.โอภาสกล่าวว่า ผู้เสียชีวิตในสัปดาห์ที่ผ่านมา เกือบทั้งหมดเป็นกลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ รวมกันถึง 98% โรคเรื้อรังที่พบมากที่สุด คือ ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับไม่ครบ อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตโควิดต่อแสนประชากรสูงสุดช่วงระลอกเดลตา และลดน้อยลงในช่วงโอมิครอนบ่งบอกว่า มีความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา ขณะที่การฉีดวัคซีนในคนไทยมากกว่า 140 ล้านโดส ทำให้มีภูมิคุ้มกันระดับหนึ่ง จึงลดอัตราเสียชีวิตได้ ส่วนอัตราการครองเตียงระดับ 2-3 ยังรองรับได้ มี 4 จังหวัดที่เริ่มตึงตัว คือ กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี เนื่องจากคนไข้เพิ่มขึ้น และมีการคืนเตียงไปใช้ดูแลผู้ป่วยทั่วไป แต่สามารถขยายเตียงได้หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง ซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขสั่งการเตรียมความพร้อมในจังหวัดต่างๆ ให้รองรับแล้ว และได้เชิญ กทม.หารือการจัดระบบการรักษาพยาบาลและการส่งต่อ เนื่องจากมีโรงพยาบาลหลายสังกัดในพื้นที่

สำหรับหลังช่วงหยุดยาวย้ำว่า ยังต้องเข้มมาตรการ 2U ได้แก่ Universal Prevention มาตรการป้องกันส่วนบุคคล เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และตรวจ ATK เมื่อมีอาการคล้ายหวัด ซึ่งโอมิครอน BA.4/BA.5 จุดเด่น คือ เจ็บคอ ระคายคอ น้ำมูก หากมีอาการคล้ายไข้หวัดอย่านิ่งนอนใจ ให้ตรวจ ATK และ Universal Vaccination ฉีดวัคซีน ซึ่งขณะนี้คนไปรับวัคซีนเพิ่มขึ้น ส่วนหน่วยงานต่างๆ หากพบผู้ติดเชื้อ ถ้ามีอาการน้อย สามารถแยกกักรักษาที่บ้านแบบ 7+3 คือ แยกกักตัว 7 วัน และเฝ้าระวังสังเกตอาการอีก 3 วัน ซึ่งควรงดเว้นการพบผู้อื่นและสวมหน้ากากตลอดเวลา

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ส่วนกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันไม่ดี กระทรวงสาธารณสุขจัดหาภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือแอนติบอดี LAAB มาใช้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังและผู้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป โดยจะเข้ามาล็อตแรกสัปดาห์หน้าประมาณ 7 พันชุด โดย 1 ชุดมียา 2 ตัว ใช้ฉีดเข้าสะโพกทั้ง 2 ข้าง ซึ่งภายในสัปดาห์นี้จะมีการสรุปข้อมูลเข้ามาว่า แต่ละจังหวัดมีผู้ป่วยมากน้อยเท่าไร เพื่อกระจายได้ตามที่ขึ้นทะเบียนร้องขอมา โดยจะจัดส่งไปยังระดับจังหวัดพิจารณาจัดสรรต่อไป และจะมีการอบรมทำความเข้าใจการใช้ LAAB ทั่วประเทศ ซึ่งการใช้ให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยรายนั้น

ด้าน รศ.ดร.ชรินทร์ กล่าวว่า มีงานวิจัยตีพิมพ์ของสถาบัน The MRC Centre for Global Infectious Disease Analysis ซึ่งเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลก ทำแบบจำลองประเมินการฉีดวัคซีนโควิด 19 ทั่วโลกใน 185 ประเทศรวมถึงประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค. 2563 – 8 ธ.ค. 2564 หรือช่วงเวลา 1 ปี พบว่า วัคซีนโควิดช่วยรักษาชีวิตคนทั่วโลกได้ประมาณ 20 ล้านคน ส่วนเฉพาะในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 8 ธ.ค. 2564 พบว่าช่วยรักษาชีวิตคนไทย 382,600 คน แต่การระบาดไม่ได้จบเพียงเท่านี้ ยังพบสายพันธุ์โอมิครอนอีก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นำแบบจำลองนี้มาศึกษาต่อตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค.2564 เป็นต้นมา พบว่าวัคซีนช่วยรักษาชีวิตคนไทยอีกประมาณ 107,400 คน ดังนั้น เมื่อรวมทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2564 – 3 ก.ค. 2565 วัคซีนช่วยรักษาชีวิตคนไทยไม่ให้เสียชีวิตประมาณ 490,000 คน และลดจำนวนผู้ป่วยรุนแรงทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลจำนวนมาก

รศ.ดร.ชรินทร์ กล่าวว่า เมื่อฉีดวัคซีนโควิดพบว่า อัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยของผู้ติดโควิดเริ่มลดลงเรื่อยๆ และเริ่มลดลงอีกเมื่อมีการฉีดเข็มกระตุ้น จนทั่วโลกอัตราการเสียชีวิตของโควิดน่าจะต่ำกว่าไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล แต่ภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีนจะลดลงตามเวลา เป็นธรรมชาติของภูมิคุ้มกันจากวัคซีน คล้ายผลของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ต้องฉีดกันทุกปี ประกอบกับสายพันธุ์โอมิครอน ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนลดลงเร็วมาก คนที่ติดสายพันธุ์ก่อนหน้ายังติดโอมิครอนซ้ำได้อีก จึงต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นอีกครั้งเร็วขึ้น ซึ่งระยะเวลาที่เหมาะสมคือ 4 เดือน โดยประสิทธิผลมีความคุ้มค่ามาก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ และกลุ่ม 608 ซึ่งถ้าติดเชื้อแล้วจะมีโอกาสเสียชีวิตสูง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิดพุ่ง! ติดเชื้อใหม่รอบสัปดาห์ 3,039 ราย ดับ 1 คน 'เชียงใหม่' ป่วยสูงสุด

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 22 - 28 ธันวาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่

'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน

‘หมอยง’ สะท้อนความรู้สึกโควิด-19 ปีที่ 2 'ยุ่งเหยิง-ดราม่าวัคซีน-เซียนคีย์บอร์ด'

หลังการระบาดใหญ่ทั่วโลก ในปีแรก ทุกคนมุ่งหวัง ที่จะยุติการระบาดด้วยวัคซีน จึงมีการผลิตคิดค้นวัคซีนกันมากมาย มากกว่า 10 platform

'คารม' บอกรัฐบาลเฝ้าระวังโรคไอกรนใกล้ชิดผู้ปกครองไม่ต้องห่วง

'คารม' เผยรัฐบาลร่วมบูรณาการเฝ้าระวังโรคไอกรนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในโรงเรียน เน้นย้ำเฝ้าระวัง ติดตามอย่างเข้มงวด ป้องกันการแพร่ระบาด ขอผู้ปกครองอย่าเป็นกังวล