15 ก.ค. 2565 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 783,526 คน ตายเพิ่ม 1,329 คน รวมแล้วติดไป 564,935,477 คน เสียชีวิตรวม 6,380,880 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และบราซิล เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 65.73 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 40.33
…สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย แม้ สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
…BA.2.75 เป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง
Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 หรือที่มีชื่อเล่นที่นักวิชาการตั้งกันให้ว่า “Centaurus” นั้นเริ่มพบระบาดมากในอินเดียเป็นประเทศแรก จากนั้นพบในอีกหลายประเทศ แม้จำนวนในประเทศอื่นนั้นยังไม่มาก แต่ทั่วโลกต่างจับตามอง เนื่องจากมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง และมีแนวโน้มที่จะมีสมรรถนะการแพร่ระบาดเร็วกว่าเดิม
ล่าสุดพบในหลายรัฐของอเมริกา เช่น แคลิฟอร์เนีย วอชิงตัน อิลลินอยส์ ฯลฯ และอีกหลายประเทศ
ไทยเราจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ให้ดี และควรป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากเปิดเสรีการใช้ชีวิตและการท่องเที่ยว เพราะอาจทำให้ระบาดทับซ้อนคล้ายกับระลอกสามเมื่อกลางปีที่แล้ว ที่เรามีทั้งอัลฟาต่อด้วยเดลตา จนทำให้เกิดการติดเชื้อ ป่วย และเสียชีวิตจำนวนมาก
…ภาพรวมการได้รับวัคซีนทั่วโลก
กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง และปานกลางระดับสูงนั้นมีสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนครบแล้วมากกว่ากลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับต่ำและประเทศที่มีรายได้น้อย
ปรากฏการณ์เช่นนี้ ในเชิงสาธารณสุขจะแปลความว่ายังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ดีนัก เพราะโรคระบาดที่แพร่ทั่วโลกอย่างโควิด-19 นั้นจะอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ดีก็ต่อเมื่อทั่วโลกสามารถเข้าถึงวัคซีนป้องกันได้โดยถ้วนทั่ว มิฉะนั้นก็ย่อมมีโอกาสเกิดการปะทุระบาดเป็นระลอกไปอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในกลุ่มประเทศที่ไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพได้นั้น ก็อาจทำให้มีจำนวนการติดเชื้อสูง และเป็นที่มาของไวรัสที่กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่นำไปสู่การระบาดหนักได้
ดังนั้น แนวทางการใช้ชีวิตของประชากรโลกในครึ่งปีหลังของ 2565 นี้ จึงควรดำเนินชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ “การใส่หน้ากาก”เป็นเรื่องที่จำเป็น เวลาออกไปตะลอนนอกบ้าน ไม่ว่าจะทำมาค้าขาย พบปะคนอื่น ศึกษาเล่าเรียน หรือดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันก็ตาม
…เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ
“การบอกความจริง” ไม่ปกปิด ไม่บิดเบือน ไม่รายงานต่ำกว่าความจริง ไม่ tone down harm and risk perception
นี่คือความรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ ความซื่อสัตย์ และความกล้าหาญ ของหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของทุกคนในสังคม
ในภาวะวิกฤติ ประชาชนจำเป็นต้องรู้ความจริงอย่างละเอียด เพื่อที่จะรู้เท่าทันสถานการณ์จริง และตัดสินใจประพฤติปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
การกล่าวอ้างว่า ใครๆ ก็รายงานต่ำกว่าความจริง ก็เลยทำบ้างนั้น คงเป็นแนวคิดที่ไม่มีใครปรารถนา และไม่ควรยอมรับให้เกิดขึ้น ไม่ว่าที่ใดก็ตามในโลก เพราะจะนำไปสู่”ความไม่เชื่อมือ ไม่เชื่อมั่น และไม่เชื่อใจ” ในที่สุด
ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ดูจะเป็นตัวอย่างที่ดี ที่หน่วยงานของเขาเผยแพร่ข้อมูลให้แก่ประชาชนในประเทศด้วยความจริงใจ ย่อมแสดงถึงการให้ความสำคัญกับชีวิตของทุกคนในสังคม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน
'สมศักดิ์' ดึง สสส. ช่วย 'นับคาร์บ' ชวนคนไทยลดโรค NCDs ต้นเหตุคร่าชีวิตคนไทยชั่วโมงละ 45 คน ผจก.สสส.เดินหน้าพัฒนาฐานข้อมูลเชื่อมท้องถิ่นลดเสี่ยง
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวในการเป็นประธานประชุมกรรมการกองทุนฯ ครั้งที่ 8/2567 ว่า จากข้อมูลพบว่ามีผู้เสียชีวิตจาก NCDs 400,000 คนต่อปี คิดเป็นชั่วโมงละ 45 คน
ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 549 ราย ดับเพิ่ม 1 คน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2567
โควิดกลับมาระบาดใหม่ ‘หมอมนูญ’ ขออย่าตื่นตระหนก รักษาตามอาการหายได้
เวลาผ่านไปโรคโควิดลดความรุนแรงลง โรคโควิดไม่น่ากลัวหมือนเมื่อ 3-4 ปีก่อน คนไทยไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจกลัวโรคโควิดมากเกินไป