'หมอนิธิพัฒน์' บอกต้องวัดใจตัวเลขผู้ติดเชื้อช่วง 12-16 ก.ค.จะทะยานหรือไม่ รับตัวเลขจริงน่าจะแตะ 5 หมื่นต่อวัน ชี้หากไม่อยากเห็นการรอต่อคิวเข้าไอซียูโควิด ยังต้องใส่หน้ากากและหมั่นรักษาระยะห่าง
14 ก.ค.2565 - รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลโพสต์เฟซบุ๊กว่า เพิ่งสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงการรายงานยอดผู้ติดเชื้อ น่าจะเริ่มมาได้ไม่กี่วัน จากกรอบสีฟ้าที่มุมซ้ายล่างของรูปการรายงานวันนี้ จะเห็นยอดผู้ติดเชื้อจากการตรวจ ATK แล้วรายงานเข้ามาในระบบ OPSI ตัวเลขที่แสดงเป็นยอดรวมของวันที่ 3 ถึง 9 ก.ค. ที่ผ่านมา เฉลี่ยวันละราวสองหมื่น แต่ช่วงนี้มีการปรับระบบสิทธิประโยชน์ของผู้รายงานเข้ามา ประมาณกันว่ายอดรายงานจะลดลงจากเดิมราวหนึ่งในสาม ดังนั้นยอดจริงน่าจะราวสามหมื่น และประมาณกันว่ายอดคนที่ตรวจแล้วไม่รายงานเข้าในระบบ ระยะนี้จะสูงขึ้นต้อนรับการเป็นโรคประจำถิ่น ยอดผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อรายวันจึงน่าจะแตะที่ระดับห้าหมื่น นับว่าทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ช่วง 26 มิ.ย. ถึง 2 ก.ค. ต้องวัดใจกันว่า ตัวเลขของสัปดาห์ 12-16 ก.ค. ถัดไปนี้ จะทะยานขึ้นไปต่ออีกหรือไม่ ตอนนี้ยังใจชื้นหน่อย ที่ยอดผู้ป่วยอาการรุนแรงยังฝ่าแนวต้านที่ 800 ขึ้นไปไม่ได้
แต่ไม่ว่าสถานการณ์ภายนอกจะสงบหรือจะเบ่งบานเพียงใด ไอซียูโควิดที่บ้านริมน้ำเช่นเดียวกับของโรงพยาบาลใหญ่อีกหลายแห่ง ยังคงมีผู้ป่วยโควิดรุนแรงจนถึงวิกฤต หมุนเวียนกันเข้ามารับการดูแลรักษาต่อเนื่องกันมาเกือบสามปีแล้ว เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานโดยเฉพาะกลุ่มพยาบาล ที่ต้องอยู่คอยดูแลให้การรักษากับผู้ป่วยเกือบตลอดเวลา พวกเขามีโอกาสได้พักผ่อนน้อยลงกว่าแต่ก่อนชัดเจน (ที่ยังครองความเป็นโสดก็ยิ่งหมดโอกาส ได้แต่นับวันรอคอยอยู่บนคานทองต่อไป) วันหยุดยาวบางคนวางแผนจะแลกเวรเพื่อไปพักกายหย่อนใจเหมือนอาชีพอื่นเขาบ้าง เพื่อนร่วมงานก็ดันมาป่วยจากโควิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานประจำ ทำให้แผนพังทลายเพราะต้องขึ้นเวรแทนเพื่อนที่ต้องถูกดึงตัวออกไปพักชั่วคราว โปรดช่วยกันควบคุมสถานการณ์โควิดอย่าให้บานปลาย ให้โอกาสพวกเขาได้เบาแรงกายแรงใจ สะสมพลังไว้ต่อกรกับโควิดต่อไปได้อีกยาวนานจนกว่าโรคจะสงบ
อย่างที่กล่าวมาในครั้งก่อนๆ ว่า ระลอกโอไมครอนนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้รุนแรงจากโควิด การต้องใส่เครื่องช่วยหายใจมักไม่ได้เป็นผลจากปอดอักเสบโควิดเหมือนสมัยเชื้อสายพันธุ์เดลตา แถมผู้ป่วยเองก็มีต้นทุนสุขภาพไม่ดีจากอายุที่มากและมีโรคร่วมรุนแรงอยู่เดิม การช่วยหายใจในผู้ป่วยระลอกนี้ส่วนใหญ่จึงเป็นแบบไม่รุกล้ำ (non-invasive ventilation) คือ ต่อเครื่องช่วยหายใจเข้าสู่ผู้ป่วยผ่านทางอุปกรณ์ต่อเชื่อม ซึ่งมักนิยมใช้เป็นหน้ากากครอบที่ปากและจมูกดังในรูป ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องทุกข์ทรมานจากการใส่ท่อช่วยหายใจทางปากผ่านเข้าไปในหลอดลม และในผู้ป่วยที่รู้ตัวดีและแข็งแรงพอระดับหนึ่ง ยังสามารถหยุดใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นครั้งคราวได้ระหว่างทำกิจกรรมการพยาบาล อีกทั้งไม่ต้องใช้ยาระงับประสาทระหว่างใช้เครื่องช่วยหายใจหรือใช้แต่เพียงน้อย ทำให้สามารถสื่อสารกันได้กับบุคลากรที่เข้าไปในห้องผู้ป่วย จึงช่วยลดความแปลกแยกจากสิ่งแวดล้อมในไอซียูโควิดที่ไม่คุ้นเคยและดูน่าหวั่นใจ
หากไม่อยากเห็นการรอต่อคิวเข้าไอซียูโควิด มาช่วยกันหยุดยั้งการระบาดช่วงนี้ด้วยการหมั่นใส่หน้ากากและหมั่นรักษาระยะห่าง
หากไม่อยากเห็นพ่อแม่ญาติพี่น้องที่สูงวัยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ โปรดใส่ใจนำท่านเข้ารับวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นทั้งเข็มที่หนึ่งและเข็มที่สองตามคำแนะนำ
พวกเราเหล่าบุคลากรทางการแพทย์ จะยืนหยัดทำหน้าที่กันต่อไปจนกว่าโควิดจะซา เหมือนสาวกปิศาจแดงที่ยืนหยัด รอผู้จัดการทีมคนที่ใช่อย่าง ETH มาช่วยปลุกผี แม้การถล่มคู่แข่งตลอดกาลในเมืองไทยจะเป็นเพียงแมตช์ก่อนฤดูกาลก็ตามที #โควิดยังไม่หมดอย่ารีบปลดหน้ากาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอยง' เผยสถาการณ์โควิดเปลี่ยนไปมากคำแนะนำก็ต้องเปลี่ยนตาม
ศ.นพ.ยง ภู่รวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก
เปิดข้อมูล ‘ไวรัสโควิด’ สร้างได้ในห้องทดลอง มีจดสิทธิบัตรตั้งแต่ปี 2018
การสร้างไวรัสใหม่ชนิดนี้จะสามารถครอบคลุมไวรัสที่จะแพร่และเกิดโรคระบาดในมนุษย์ได้ทั้งสิ้น และสามารถที่จะสร้างวัคซีนให้มนุษย์ก่อนได้
สัญญาณอันตราย!สหรัฐพบไวรัสไข้หวัดนกในหมูเสี่ยงระบาดครั้งใหม่
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ศูนย์สนับสนุนพันธกิจ
ประสบการณ์เฉียดตายของดารารุ่นใหญ่ ‘อัล ปาชิโน’
โควิด-19 เกือบคร่าชีวิตของเขา - อัล ปาชิโน นักแสดงชาวอเมริกัน ล้มป่วยหนักเมื่อปี 2020 หนักมากจนเขาแทบเอาชีวิตไม่รอด
ตร.พร้อมรับทำคดี ปม 'ตัดไฟ' ยายป่วยติดเตียงเสียชีวิต
พ.ต.อ.จิรุฏฐ์ พิมพา ผกก. สภ.วังยาง มอบหมายให้ พ.ต.ท.ยงยุทธ ผิวพรรณ์ รอง ผกก.สอบสวน และเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ให้กำลังใจญาติ และร่วมไว้อาลัยศพ
มาอีกแล้ว! ไวรัสตัวใหม่ 'มาร์บูร์ก' น้องๆอีโบลา
เพจศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ศูนย์สนับสนุนพันธกิจ