หมอธีระอัพเดตโควิด-19 ยกผลงานวิจัยมะกันชี้เชื้อโรคมีส่วนในอาการผิดปกติในสมองผู้ป่วยระยะเฉียบพลัน และบรรดา Long COVID ตอกย้ำแมสก์ยังคงจำเป็น
14 ก.ค.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 766,242 คน ตายเพิ่ม 1,376 คน รวมแล้วติดไป 563,729,768 คน เสียชีวิตรวม 6,378,720 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส อิตาลี บราซิล ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 67.66 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 36.19
...สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
...อัพเดตจากองค์การอนามัยโลก (WHO) WHO Weekly Epidemiological Update ล่าสุดวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 ทั่วโลกมีจำนวนติดเชื้อรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อนหน้า 6% โดยภูมิภาคที่ติดเชื้อเพิ่มกว่าเดิม ได้แก่ แถบแปซิฟิกตะวันตก เมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยุโรป แม้จำนวนการเสียชีวิตรายสัปดาห์ของทั่วโลกจะลดลง 2% แต่มีบางภูมิภาคที่จำนวนเสียชีวิตสูงขึ้นมาก ได้แก่ แถบเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก (เพิ่ม 78%) และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เพิ่ม 23%)
...สายพันธุ์ที่ครองการระบาดขณะนี้ สถานการณ์ในสัปดาห์ล่าสุด (26 มิถุนายนถึง 7 กรกฎาคม 2565) พบว่า สายพันธุ์ Omicron ครองการระบาดทั่วโลก หากดูสัดส่วนของการระบาดจำแนกตามสายพันธุ์ย่อย จะพบว่า BA.2 ลดลงจาก 7% เหลือ 4%, BA.2.12.1 ลดลงจาก 13% เหลือ 7% ในขณะที่ BA.4 เพิ่มขึ้นจาก 11% ถึง 14% และ BA.5 ครองสัดส่วนการระบาดทั่วโลกสูงสุด เพิ่มขึ้นจาก 42% ไปเป็น 50% ของทั้งหมด
...ข่าวดีเรื่องวัคซีนในอเมริกา ล่าสุด US FDA อนุมัติให้มีการขึ้นทะเบียนวัคซีน Novavax เพื่อใช้ในการป้องกันโรคโควิด-19 แล้ว ทั้งนี้จะเหลือขั้นตอนสุดท้ายคือ การพิจารณาของ US CDC เพื่อประกาศให้นำมาใช้อย่างเป็นทางการในอเมริกา นับเป็นวัคซีนตัวที่ 4 ในอเมริกา ต่อจาก Pfizer/Biontech, Moderna, และ J&J Novavax เป็นวัคซีนชนิด Protein subunit ในขณะที่ Pfizer/Biontech และ Moderna เป็น mRNA vaccines และ J&J เป็น Adenoviral vector vaccine
...อัพเดตการติดเชื้อโรคโควิด-19 กับเซลล์สมอง Andrews MG และคณะจากมหาวิทยาลัย UCSF สหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลการวิจัยล่าสุดในวารสารทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ระดับสากล PNAS เมื่อ 12 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา สาระสำคัญที่ค้นพบคือ ไวรัสโรคโควิด-19 นั้นสามารถติดเชื้อและแบ่งตัวในเซลล์สมอง ประเภท astrocytes ได้ โดยกระบวนการที่ติดเชื้อนั้นไม่ได้ใช้กลไกผ่านตัวรับ ACE2 ดังที่พบจากการติดเชื้อในเซลล์ระบบทางเดินหายใจ แต่ใช้กลไกผ่านไกลโคโปรตีนประเภท CD147 และ DPP4 ซึ่งอยู่บนผิวเซลล์สมองประเภท astrocytes ผลการศึกษานี้มีความสำคัญ เพราะอาจเป็นกลไกหนึ่งที่ใช้อธิบายปัญหาอาการผิดปกติในสมองหรือระบบประสาทที่เกิดขึ้นในผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั้งในระยะเฉียบพลัน รวมถึงในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติภายหลังหรือ Long COVID ได้
...สถานการณ์ระบาดในไทยยังรุนแรงต่อเนื่อง สิ่งที่ทำได้ในเวลานี้คือ หนึ่ง ใส่หน้ากากเสมอ เวลาตะลอนนอกบ้าน สอง ลดละเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง (แชร์ของกินของใช้) กิจกรรมเสี่ยง (คลุกคลีใกล้ชิดผู้อื่น) สถานที่เสี่ยง (แออัด ระบายอากาศไม่ดี) สาม หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ และตรวจ ATK เป็นระยะ หลังจากมีความเสี่ยงมาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ และหากตรวจพบว่าติดเชื้อ ควรแยกตัวจากคนอื่นอย่างน้อย 10 วัน และสี่ พยายามทำความสะอาด และหาทางระบายอากาศ (improve ventilation) ในสถานที่พักอาศัย สถานศึกษา สถานที่ทำงาน รวมถึงกิจการห้างร้านต่างๆ เช่น การเปิดประตู หน้าต่าง ติดตั้งพัดลมระบายอากาศ ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ รวมถึงเจลแอลกอฮอล์และที่ล้างมือให้เข้าถึงได้ง่าย ...ย้ำอีกครั้งว่า การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง เป็นหัวใจสำคัญ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลเตือนเช็กอาการ 6 โรคหลังไปเที่ยวปีใหม่
รองโฆษกรัฐบาลขอ ปชช.เดินทางท่องเที่ยว ปลอดภัย ไร้โรค ไร้ภัย แนะหมั่นสังเกตอาการ หลังเดินทางกลับ หากมีอาการผิดปกติ รีบพบแพทย์
เปิดพิกัดเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนในจุฬาฯ
ปีนี้งาน Night Museum at Chula เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดภายใต้แนวคิด “เสน่ห์ Science” ชูเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัวเรา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและเป็นแรงขับเคลื่อนทุกย่างก้าวของคนในปัจจุบัน