'ดร.อนันต์'ไขข้อสงสัย ทำไมฉีดวัคซีนไปหลายเข็มแล้วภูมิคุ้มกันถึงป้องกันการติดเชื้อไม่ค่อยได้แต่สามารถป้องกันอาการรุนแรงของโรคได้อยู่ เปรียบ ปอด เป็นปราสาทใจกลางเมือง ต้องมีทหารคอยป้องกันเมือง การฉีดกระตุ้นคือ การเพิ่มกำลังทหาร และทหารกลุ่มนี้จำเป็นต้องถูกกระตุ้นด้วยวัคซีนแบบอื่นที่ยังไม่มีใครนำมาใช้
13 ก.ค.2565 - ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เฟซบุ๊กมีเนื้อหาว่า
ไปอ่านเจอบทความวิชาการชิ้นนึงพร้อมรูปประกอบที่ตรงใจมากๆครับ สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจว่าฉีดวัคซีนไปหลายเข็มแล้วทำไมภูมิคุ้มกันถึงป้องกันการติดเชื้อไม่ค่อยได้ แต่สามารถป้องกันอาการรุนแรงของโรคได้อยู่ ถ้าเราเปรียบอวัยวะสำคัญที่ไวรัสเข้าทำลายแล้วจะมีอาการรุนแรง เช่น ปอด เป็นปราสาทใจกลางเมือง ปราสาทจะมีกำแพงเมืองกั้นไว้รอบด้าน ซึ่งกำแพงเมืองนั้นคือ mucosa หรือ เยื่อเมือกที่มีเซลล์ที่ไวรัสติดได้ รอบกำแพงเมืองจะมีน้ำล้อมรอบ ซึ่งก็คือ น้ำลาย หรือ เสมหะต่างๆ ลำพังแค่น้ำล้อมรอบไม่เพียงพอต่อการตีกำแพงของไวรัสแน่นอน ร่างกายจึงต้องมีทหารคอยป้องกันเมือง ขอให้สังเกตทหารในภาพจะมีอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรกจะมีสีเหลือง (ชื่อว่า IgA) คือทหารยามประจำการอยู่ที่กำแพงเมืองเป็นหลัก มีจำนวนน้อยจะเข้ามาภายในบริเวณปราสาท ประเภทที่สองจะมีสีน้ำเงิน (ชื่อว่า IgG) เป็นกองกำลังสำคัญมีกำลังพลสูงกว่า IgA มาก และ หน้าที่หลักคือคุ้มครองปราสาทในกลางเมือง บางคนพบได้จะขึ้นไปที่กำแพงเมืองแต่ก็เป็นส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับพวกที่อยู่ด้านล่าง จริงๆในเมืองมีกองกำลังที่เป็น T cell อยู่ด้วย แต่เพื่อความไม่ซับซ้อนมาก เอา T cell ไปไว้ที่อื่นก่อนนะครับ
ในสภาวะที่เมืองจะปลอดภัยจากการรุกรานของศัตรูจะเห็นว่า กำแพงเมืองต้องเข้มแข็ง ทหารยาม IgA ต้องมีอยู่เป็นจำนวนมากเพียงพอที่จะดักจับ และ ป้องกันศัตรูที่ข้ามแม่น้ำมา ซึ่งในช่วงนั้นจำนวนที่ข้ามมาได้จะไม่มาก ทหารยามสามารถป้องกันเมืองได้แบบไม่ยากเย็นนัก แต่เมื่อทหารยามไม่มี หรือ มีไม่เพียงพอ ข้าศึกเข้าประชิดกำแพงเมืองและเข้าสู่บริเวณภายในกำแพงได้ไม่ยาก แต่เมื่อเข้ามาแล้ว การตีเข้าไปในปราสาทไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทหารกำลังหลักมีอยู่เต็มไปหมด พร้อมจัดการกับข้าศึกเพื่อป้องกันปราสาทไว้ โดยทั่วไปความสามารถของทหาร IgG สูง จะชนะข้าศึกได้ไม่ยาก ถ้ามีปริมาณไม่น้อยเกินไป ข้าศึกจะถูกกำจัดหมด ยกเว้น ข้าศึกเปลี่ยนไปแบบมีการอำพรางตัวเอง หรือ ใช้อาวุธพิเศษที่ ทหาร IgG ไม่เคยถูกฝึกมาก่อน ปราสาทอาจถูกเข้าทำลายได้ แต่อย่าลืมว่า เมืองยังมี T cell ที่คอยช่วย ทหาร IgG ไว้อีกแรง ซึ่ง T cell จะมีบทบาทสูงมากที่จะป้องกันเมืองในบริบทนี้ ในกรณีที่เมืองถูกเข้าทำลายได้ นั่นหมายความว่า ทั้ง IgG และ T cell เอาไม่อยู่ และ แพ้สงครามครั้งนี้
ประเด็นเรื่องของวัคซีนที่เราฉีดกระตุ้นกัน ก็คือ การเพิ่มกำลังทหาร IgG และ T cell ให้มากขึ้นเพื่อป้องกันปราสาท แต่ด้วยพื้นที่ที่จำกัด ทหารที่เกณฑ์มามากขึ้นถ้าไม่ได้ทำงาน ก็จะปลดประจำการเหลือให้เพียงพอต่อการป้องกันเมือง ทหารที่มากๆก็จะอยู่กับเมืองไม่นาน แต่การฉีดวัคซีนไม่ช่วยให้ทหารยาม IgA บนกำแพงเมืองสูงขึ้นแต่อย่างใด ทหารกลุ่มนี้จำเป็นต้องถูกกระตุ้นด้วยวัคซีนแบบอื่นที่ยังไม่มีใครนำมาใช้ เช่น ผ่านทางพ่นจมูก หรือ จากการติดเชื้อตามธรรมชาติ ดังนั้น ถึงแม้เราจะมีกองกำลังป้องกันเมืองมากแค่ไหน ทหาร IgG เหล่านั้นก็ไม่สามารถปีนกำแพงขึ้นมาป้องกันข้าศึกได้อยู่ดี ทำได้อย่างเดียวคือตั้งรับและป้องกันข้าศึกไม่ให้เข้าไปในปราสาทได้ แต่แน่นอนการสู้รบย่อมมีความเสียหาย ออกมาในรูปของอาการป่วยต่างๆจากการสู้แต่ละครั้ง การสู้รบแต่ละครั้งยังเป็นการฝึกให้ทหารเราเก่งขึ้นอีกด้วย ดังนั้นถ้าข้าศึกหน้าเดิมๆเข้ามาอีกจะยากมากที่จะผ่านทหารเหล่านั้นได้
เสียดายที่ข้าศึกก็ไม่ใช่"ไวรัสกระจอก" 3 ปีที่ผ่านมาสร้างความปั่นป่วนแบบไม่คาดคิดมาเยอะมาก และ เดาไม่ออกว่าจะมาไม้ไหนอีกครับ
ภาพประกอบจาก
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/imr.13118
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นักไวรัสวิทยา' สรุป 3 สายพันธุ์ 'โรคฝีดาษลิง' ความรุนแรงอาจขึ้นอยู่กับช่องทางการติดเชื้อ
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า
หนาว! ไทยมีสิทธิ์เป็นประเทศที่สองในโลกที่ฝีดาษวานรโผล่นอกแอฟริกา
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ
'ดร.อนันต์' เตือนสติไวรัสยังเป็นสิ่งน่ากังวล
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)
'ดร.อนันต์' เปิดผลวิจัยสาเหตุโลกไม่นิยมใช้ 'โมนูพิราเวียร์' สู้โควิด!
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ
ผงะ! ดร.อนันต์บอกชายเยอรมันฉีดวัคซีนโควิดมากสุด 217 เข็มใน 29 เดือน
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ
'ดร.อนันต์' เผยข่าวดีผู้แพ้ 'ถั่วลิสง-นม-ไข่'
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ